1. มาตรการกำกับดูแลคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ก.ล.ต.ยังคงตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อคุ้มครองนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีการดูแลอย่างดี เพราะเงินของนักลงทุนที่นำมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาจากรายได้ที่หามา หรือเงินออมที่เก็บสะสม เพื่อมาลงทุนหาผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต.มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้ลงทุนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้เล่นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงให้หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ที่จะต้องช่วยกันคุ้มครองดูแลนักลงทุน รวมถึงช่วยกันสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับตลาดทุน
2. การเสนอแนะและการยกร่างกฎกติกาต่างๆในตลาดทุน เพื่อทำให้กฎกติกาต่างๆสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามา ทำให้เกิดการลงทุนในตลาดใหม่ๆ ซึ่งทางก.ล.ต.จะต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงกฎกติกาต่างๆให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน เพราะตลาดทุนมีผลต่อระบบการเงินของโลกและทุกประเทศในโลก การสร้างความเสมอภาคให้กับทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ และเชื่อมโยงตลาดทุนและตลาดเงินผ่านการระดมทุนต่างๆอย่างเหมาะสม
3. การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของตลาดทุนทั่วโลกในการสร้างระบบการเงินอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยเฉพาะประเทศไทยเองที่มีการปฏิญาณในเวทีโลกในการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการส่งเสริมการสร้างเครื่องมือต่างๆเข้ามาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมของโลก โดยเฉพาะเครื่องมือทางการเงินที่มีการออกตราสารหนี้และหุ้นกู้สีเขียว เป็นต้น
ด้านมุมมองทางเศรษฐกิจมองว่ายังคงมีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีการฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำ และเป็นการฟื้นตัวแบบช้า (Slow Recovery) อีกทั้งยังเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยที่ฝั่งสหรัฐและยุโรปในปีนี้จะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง หลังจากปีที่ผ่านมาเติบโตไปมากแล้ว แต่ในฝั่งเอเชียปีนี้จะมีการเติบโตที่สูงกว่า เพราะฝั่งเอเชียมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ตามหลัง ทำให้ในปีนี้เศรษฐกิจในเอเชียมีความสำคัญค่อนข้างมาก
ส่วนนโยบายการเงินหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงดอกเบี้ยในอัตราที่สูง และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อต่อสู่กับเงินเฟ้อ ยังคงต้องตามดูในเรื่องของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร แต่หากมีสัญญาณที่ดีขึ้นหลังจากนี้ก็อาจจะเป็นผลบวกต่อประเทศไทยด้วย ซึ่งภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีปัจจัยจากภาคการส่งออกที่อาจจะกดดัน หลังตัวเลขการส่งออกลดลง แต่ยังเพิ่งผ่านมาเพียงครึ่งปีและยังเหลือเวลาอีก 6 เดือนในการทำงาน ซึ่งหากมองในปริมาณการส่งออกถือว่าติดลบตามความต้องการที่ลดลง แต่หากดูในส่วนของมูลค่าที่เป็นตัวเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังเป็นบวกอยู่เล็กน้อย ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งก็ยังคาดหวังว่าในส่วนของมูลค่าการส่งออกทั้งปีอาจจะลบเล็กน้อยหรือทรงตัวก็เป็นไปได้