บอร์ด TMB เล็งเลือก CEO จากผู้เหมาะสม 3-4 รายให้เสร็จภายใน 6 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday April 26, 2008 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานกรรมการธนาคารทหารไทย(TMB) เผยเบื้องต้นเล็งพิจารณาผู้เข้ารับการคัดเลือกมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) ไว้ 3-4 ราย เพื่อเข้ากระบวนการสรรหาหวังเปิดรับคนมีความรู้ความสามารถพลิกฟื้นสถานะธนาคารได้ โดยคาดว่าใช้เวลาเฟ้นหาไม่ถึง 6 เดือน

ขณะที่ปี 51 TMB คาดว่าจะพลิกฟื้นเป็นกำไรสุทธิจากปีก่อนขาดทุนหนัก เนื่องจากไม่ต้องตั้งสำรองหนี้จำนวนมากเช่นปีที่แล้ว รวมทั้งตั้งเป้าลดสินเชื่อด้อยคุณภาพ(NPL) เหลือ 9% จาก 16.06% จากปีก่อน แต่ยังอ้ำอึ้งกับภาระขาดทุนสะสมถึง 1 แสนล้านบาทว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ TMB เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายชื่อบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกเป็น CEO อยู่ 3-4 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายแบงก์ แต่มีบางรายที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงธนาคาร อย่างไรก็ดีธนาคารจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาเพื่อต้องการเปิดให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาเสนอตัวเข้ามาช่วยกอบกู้สถานะ โดยในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการสรรหาซึ่งมีตัวแทนจากกลุ่มไอเอ็นจีจะประชุมเป็นครั้งที่สอง

"หลักคือต้องเร็วที่สุด แต่ก็ต้องสมดุลในการหาคนดีที่สุดเพราะธนาคารยังต้องการผู้บริหารองค์กรที่เข้มแข็ง ผู้บริหารสูงสุดที่จะนำ TMB ขึ้นมาเป็นธนาคารชั้นนำ...เรายังมีเวลา 6 เดือน แต่โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ถึง 6 เดือน" ประธานกรรมการ TMB กล่าว

ทั้งนี้ นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ลาออกและมีผลภายใน 30 ก.ย.51 ส่วนการลาออกของนายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ(COO) และนายธเนศ ภู่ตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน(CFO) จะมีผลภายในวันที่ 30 มิ.ย.51

นายสถิตย์ กล่าวว่า ธนาคารจะสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ก่อน เพื่อเข้ามาวางแผนการทำงานและการบริหาร ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมี COO และ CFO ก็ได้ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของธนาคารไว้ 3 ปี

*คาดปี 51 พลิกฟื้นมีกำไร

นายสุภัค คาดว่า ปีนี้ธนาคารจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ เนื่องจากในปีนี้ไม่ต้องมีภาระสำรองหนี้จำนวนมาก มีเพียงการตั้งสำรองตามปกติของธุรกิจที่จะตั้งสำรองตามการขยายตัวของสินเชื่อ

ประกอบกับในปีนี้เพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 25% โดยจากการที่เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนของ บลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย) และเป็นนายหน้าประกันชีวิตให้กับ บริษัท ไอเอ็นจี ประกันชีวิต คาดเริ่มดำเนินการได้ในเดือน พ.ค.นี้ โดยมีสัญญา 10 ปี

ขณะเดียวกันธนาคารยังเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนให้กับ บลจ.ทหารไทย ซึ่ง นายสุภัค ระบุว่า การขายหน่วยลงทุนของทั้ง บลจ.ทหารไทยและ บลจ.ไอเอ็นจีฯ จะไม่ทับซ้อนกัน เพราะกองทุนของ บลจ.ทหารไทย เน้นลงทุนหุ้นที่อิงกับ SET100, SET 50 ขณะที่ บลจ.ไอเอ็นจีฯ เน้นขายกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนที่ลงทุนธุรกิจเฉพาะ

ขณะที่ NPL ปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าลดเหลือที่ 9% โดยในไตรมาส 1/51 NPL เริ่มปรับลดลงเหลือ 14.29% หรือ 7 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 50 อยู่ที่ 16.06% หรือ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยแนวทางที่จะทำให้ลดลงด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าที่ปัจจุบันมีจำนวนครึ่งหนึ่งไม่จ่ายดอกเบี้ย และอาจจะฟ้องร้องเพื่อยึดหลักประกัน ส่วนแนวทางการนำหนี้สินรอการขาย(NPA) ออกมาเสนอขายอาจจะไม่ดำเนินการเพราะได้ราคาที่ต่ำกว่าที่ควรได้

และยังคงเป้าขยายสินเชื่อปีนี้เติบโต 8% หรือเป็นเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่ำกว่าเป้า 700-800 ล้านบาท และแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 2 นี้ก็คาดว่ายังไม่ดีขึ้น โดยประมาณว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ราว 1 พันกว่าล้านบาท แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังจะปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทได้เน้นปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งอยู่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีสูงถึง 15% ของสินเชื่อรวมก็มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายโครงการเมกะโปรเจ็คต์

ปัจจุบันโครงสร้างลูกค้าสินเชื่อ แบ่งเป็น กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี 48% กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 38% และกลุ่มลูกค้ารายย่อย 15-16%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ