KBANK-Lombard คาดศก.โลกระยะยาวโตดี แนะกระจายลงทุน-เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์นอกตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 22, 2023 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KBANK-Lombard คาดศก.โลกระยะยาวโตดี แนะกระจายลงทุน-เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์นอกตลาด

KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาในหัวข้อ Beyond the Numbers: Decoding the Economic Outlook ประเมินเศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายระยะสั้น ทั้งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีในระยะยาว แนะกลยุทธ์ปรับพอร์ตรับมือความท้าทายและรอคว้าโอกาสที่กำลังจะมาถึง ชูกองทุนผสมแบบ Risk-Based และสินทรัพย์ทางเลือกโดยเฉพาะสินทรัพย์นอกตลาด ทั้งหุ้นนอกตลาด ตราสารหนี้นอกตลาด และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด

Lombard Odier ได้ให้มุมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะสั้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง และมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีในระยะยาว ดังนี้

การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกและอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในปี 66 และ 67 โดยแรงขับเคลื่อนส่วนหนึ่งมาจากมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 66 และ 67 เนื่องจากการกู้ยืมทำได้ยากขึ้น

อัตราดอกเบี้ยกำลังถึงจุดสูงสุด ในสหรัฐฯ และยูโรโซน โดยคาดว่ามีโอกาสน้อยที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นต่อ อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ จะคงดอกเบี้ยไว้ระยะหนึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากตลาดแรงงานยังอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่งเกินกว่าที่ธนาคารกลางจะผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ แม้ว่าล่าสุดจะส่งสัญญาณอ่อนตัวลงมาบ้าง

การบริโภคภายในประเทศของจีนฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่ภาคการลงทุนและยอดการปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลง ทาง Lombard Odier มองว่าทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากที่ธนาคารกลาง (PBoC) ปรับลดดอกเบี้ยลง เช่น การผ่อนปรนกฎระเบียบในการกำกับดูแลภาคธุรกิจ ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง

Lombard Odier จึงได้แนะนำ 5 กลยุทธ์การลงทุนในครึ่งหลังของปี 66 ดังนี้

1. รักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่โหมดชะลอตัว ทำให้คาดการณ์ว่าบอนด์ยีลด์กำลังผ่านจุดสูงสุดแล้ว

2. เน้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง หรือ Investment Grade ที่ความเสี่ยงต่ำกว่า เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น

3. มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นประเทศพัฒนาแล้วนอกเหนือจากตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในเกณฑ์แพง และคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการที่เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย

4. กระจายลงทุนในหุ้นหลายประเทศทั่วโลก ลดการกระจุกตัวในประเทศใดประเทศหนึ่ง

5. กระจายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น โดยเฉพาะสินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ซึ่งรวมถึงหุ้นนอกตลาด ตราสารหนี้นอกตลาด และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด โดยในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ในราคาที่น่าดึงดูด

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า เพื่อรับมือกับหลากหลายความท้าทายในปีนี้และรอคว้าโอกาสในการลงทุนที่กำลังจะมาถึง KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนแนะนำ 3 กลยุทธ์การลงทุนสำคัญ สำหรับนักลงทุนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการลงทุนได้จริง ได้แก่

1. Stay Invested แนะนำให้นักลงทุนลงทุนตลอดเวลา การทำเช่นนี้จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการซื้อๆ ขายๆ หรือการทำ Market Timing

2. ยึดหลักการกระจายการลงทุน โดยใช้ความเสี่ยงของสินทรัพย์ หรือ Risk-based Allocation

3. Alternative Investments อย่างการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ที่แม้ตลาดทุนจะผันผวนอย่างไร ราคาสินทรัพย์นอกตลาดจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากราคาของสินทรัพย์นอกตลาดจะขึ้นกับผลการดำเนินที่แท้จริง

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับประเด็นเชิงโครงสร้าง หรือโจทย์ในระยะกลางถึงยาว เช่น ในอีก 8 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจำนวนกว่า 20% จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบทั้งต่อตลาดแรงงาน การบริโภคของครัวเรือน และฐานะการคลังของรัฐบาล นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของไทยก็ล่าช้ากว่าที่ได้สัญญาไว้ ในขณะที่ประเทศไทยเอง ก็ถูกประเมินว่าเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศ ที่จะได้กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกมากที่สุด โดยในกรณีดีสุด หากอุณภูมิโลกเพิ่มต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ผลกระทบสะสมต่อ GDP ไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% ภายในปี 91

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศ อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องให้น้ำหนักไปที่โจทย์เฉพาะหน้า เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับลดค่าไฟฟ้า การอัดฉีดเงินโดยตรงแก่ประชาชน การแก้ไขหนี้ครัวเรือน การให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี มากกว่าการแก้ไขประเด็นเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น การปรับขึ้นภาษี การต่อต้านการผูกขาด และการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อยอดหนี้สาธารณะของรัฐบาล รวมไปถึงการจัดทำงบประมาณในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยวางไว้ คงจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาคงจะหนีไม่พ้นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 66 อยู่ที่ 3.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ