IPOInsight: TPL ส่งหนักส่งใหญ่ พลิกโฉมเป็นรถ EV สู่ Green Logistics

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 23, 2023 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

IPOInsight: TPL ส่งหนักส่งใหญ่ พลิกโฉมเป็นรถ EV สู่ Green Logistics

บมจ.ไทยพาร์เซิล (TPL) เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น เคาะราคาหุ้นละ 3.30 บาท เปิดให้นักลงทุนจับจอง 22-26 มิ.ย.66 และเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจบริการวันที่ 30 มิ.ย.66

TPL ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทย โดยเชี่ยวชาญในสินค้าขนาดใหญ่ มีทั้งการจัดส่งแบบ B2B , C2C และ B2C ซึ่งบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ยังมีบริการเสริมให้ลูกค้า อาทิ บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง บริการห่อหุ้มสินค้าและจัดชุดสินค้าเพื่อเตรียมกระจาย เป็นต้น

นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า เราแบ่งเงินระดมทุนออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบ่งเป็นรถบรรทุกหกล้อ 28 คัน ที่ใช้วิ่งระหว่างศูนย์กระจายสินค้าของเราเองในภาคกลางและภาคตะวันออก และรถบรรทุกสี่ล้อ 50 คัน ที่ใช้กระจายสินค้าไปยังผู้รับในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

"เราได้นำรถ EV มาลองวิ่ง พบว่าตอบสนองความต้องการของบริษัทได้ดี ประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ราว 50% และยังประหยัดค่าบำรุงรักษารถด้วย เพราะรถดีเซลใช้การบำรุงรักษามากกว่า EV ดังนั้นผลที่ตามมาคือ 1) ต้นทุนลดลง กำไรขั้นต้นมากขึ้น และ 2) เราสามารถลองปรับราคาขาย เพื่อให้สู้กับคู่แข่งได้ดีขึ้น" นายภัทรลาภ กล่าว

นอกจากนี้วางแผนลงทุนในสถานีชาร์จไฟราว 17 แห่ง เพื่อที่จะชาร์จรถ EV ของบริษัท เนื่องจากถ้าไปชาร์จในสถานีสาธารณะที่มีอยู่แล้ว จะไม่ทราบคิวและไม่สามารถคำนวณเวลาส่งของได้ ขณะเดียวกันสถานีที่สร้างขึ้น เราก็ไม่ได้ใช้สถานีตลอดเวลา ในอนาคตอาจทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อใช้ประโยชน์จากสถานีชาร์จตรงนี้ก็ได้

สำหรับเงินระดมทุนส่วนที่สองใช้เพื่อสร้างศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Hub) 3 แห่งในพื้นที่ นครสวรรค์, นครราชสีมา และ สุราษฎร์ธานี และศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้า (Hub) อีก 2 แห่งในกรุงเทพ เพื่อรองรับการเติบโตของลูกค้า

และเงินระดมทุนส่วนที่สามใช้เพื่อลงทุนในระบบ IT แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) ระบบจัดการสินค้าในคลัง เพื่อรองรับกิจกรรมพิเศษระหว่างเราและลูกค้า เชื่อมโยงข้อมูลให้รู้สถานะสินค้า และ 2) การบริหารและจัดการข้อมูลที่ได้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งเราและลูกค้า อาทิ ข้อมูลการตลาด การจัดส่ง เป็นต้น

ส่วนแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี บริษัทมองว่า ธุรกิจ Logistics จะขยายตัวไปตามเศรษฐกิจที่เติบโต เราก็ตั้งใจโตไปพร้อมกับลูกค้า พร้อมปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของลูกค้า อย่างการขยายบริการพิเศษเพิ่มอีกก็จะมีแน่นอน พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตปีละ 15% ซึ่งมั่นใจว่าเรามีศักยภาพที่น่าจะทำได้อยู่

ด้านการเพิ่มรถ EV ในอนาคต จากที่เราศึกษามา ถ้าเป็นรถที่วิ่งระหว่างศูนย์ต่อศูนย์ น่าจะปรับเปลี่ยนเป็น EV ได้ทั้งหมด แต่ในส่วนของรถกระจายสินค้าไปยังผู้รับอาจจะลำบาก เพราะจังหวัดต่าง ๆ ก็มีพื้นที่เฉพาะตัวต่างกัน อาทิ เชียงใหม่ ที่เป็นเขาเป็นดอย ก็อาจจะต้องพึ่งรถดีเซลอยู่

"อย่างไรก็ตามสัดส่วนของรถ EV เราก็จะพยายามขยายไปเรื่อย ๆ คาดว่าในอนาคตเราก็จะสามารถเติบโตและเป็น Green Logistics ได้" นายภัทรลาภ กล่าว

*TPL คือใคร ? (นาทีที่ 0.43 - 1.57 )

*TPL กับการเติบโต (นาทีที่ 1.58 - 3.05 )

*TPL กับข้อได้เปรียบทางธุรกิจ (นาทีที่ 3.06 - 4.44 )

*TPL กับแผนหลังเข้าตลาดฯ (นาทีที่ 4.45 - 12.24 )

https://youtu.be/O8o8q_9Xjss


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ