น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง 66 ให้กรอบดัชนีที่ 1,400-1,700 จุด ภายใต้ 3 สถานการณ์ ดังนี้
1. Best Case มองว่าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จะทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นและหันกลับมาเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น และคาดหวังการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้นเท่ากับระดับก่อนเกิด COVID-19 จะช่วยหนุนดัชนีเพิ่มเติม เราประเมินกรอบดัชนีที่ 1,600-1,700 จุด
2. Base Case ฝ่ายวิจัยคาดว่า Base Case มีโอกาสสูงที่สุดประเทศไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งการปรับเพิ่มค่าแรง และสวัสดิการต่างๆ ที่เตรียมให้ประชาชนช่วยหนุนให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเมินกรอบดัชนีที่ 1,500-1,600 จุด
3. Worst Case คาดว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิด Worst Case มาจากสงครามคู่ใหม่ระหว่างสหรัฐและจีน โดยจะมาในรูปแบบสงครามตัวแทน ซึ่งเกิดในกลุ่มประเทศ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีเหนือ และจีนจะส่งผลให้นักลงทุนเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ นอกจากนี้ปัจจัยภายในหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จะทำให้เม็ดเงินไหลออกจากประเทศกลับไปยังสหรัฐที่มีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับสูงเพิ่มขึ้น เราประเมินกรอบดัชนีที่ 1,400-1,500 จุด
"หากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วเสร็จ สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนครบกำหนดเวลางบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ที่จะสิ้นสุดปลายเดือนกันยายนนี้เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงเดือนต.ค.66 อีกทั้งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยพยุงค่าเงินบาทและอาจช่วยให้ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าได้ นอกจากนี้คาดว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยในครึ่งปีหลัง 66 จะสามารถพลิกกลับเป็นบวกได้ จากตัวเลขภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนต่อ GDP เกือบ 60% ได้ติดลบต่อเนื่อง 7 เดือน (ต.ค.65-เม.ย.66) ติดต่อกัน คาดว่าดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,400-1,700 จุด" น.ส.วิลาสินี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาปัจจัยลบจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางตุรกี ได้มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับลดลงสู่ระดับเป้าหมาย ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ สอดคล้องกับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ซึ่งเป็นองค์กรหลักของธนาคารกลางโลกเรียกร้องให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น
ทั้งนี้ การที่เฟดสาขาชิคาโกเผยดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (CFNAI) ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการประเมินความเสี่ยงได้ปรับตัวลงในเดือนพ.ค. เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลดลงของการผลิตและการจ้างงาน ขณะที่สถาบันเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 66 เหลือ 5.2% จากเดิม 5.5% หลังจากจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงหลังโควิด-19 แพร่ระบาด
ส่วนราคาน้ำมันปรับลดลงจากความกังวลอุปสงค์น้ำมันลดลง หลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ในระยะสั้นราคาน้ำมันปรับขึ้นเนื่องจากการมีข้อพิพาทรัสเซีย-กลุ่มวากเนอร์อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน
ปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ วันที่ 30 มิ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย, วันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา, การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 3 ครั้งในปีนี้ วันที่ 2 ส.ค. 27 ก.ย. และ 29 พ.ย.
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตา วันที่ 27 มิ.ย. สหรัฐ รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค. ราคาบ้านเดือนเม.ย.จาก ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย., วันที่ 28 มิ.ย. จีน รายงานกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค., สหรัฐ รายงานสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์, วันที่ 29 มิ.ย. อียูรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย., สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ GDP ไตรมาส 1/66 ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนพ.ค., กำหนดการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เหลืออีก 4 ครั้งในวันที่ 25-26 ก.ค. 19-20 ก.ย. 31 ต.ค.-1 พ.ย. และ 12-13 ธ.ค.
แนะนำกลยุทธ์การลงทุนหุ้น 4 กลุ่มเด่น ได้แก่
1. หุ้น Domestic Play คาดได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ได้แก่ CPALL, HMPRO และ CPAXT
2. หุ้นท่องเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวเนื่องจากเป็น High Season ได้แก่ ERW, CENTEL และ AOT
3. หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับผลบวกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ BBL, KTB และ TTB
4. หุ้นผลประกอบการเด่น ได้แก่ AUCT, XO, CEYE และ PJW