นางสาวเนาวรัตน์ กีรติเกษมสุข ผู้บริหารสูงสุด สายงานบริหารร้านค้าสมาชิก บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า บริษัทได้พัฒนาความร่วมมือกับแอนท์ กรุ๊ป เจ้าของและผู้ให้บริการอาลีเพย์ (Alipay) ต่อยอดความร่วมมือจากเคยบริการรับชำระเงินด้วย Alipay (สำหรับชาวจีน) มาตั้งแต่ปี 58 และล่าสุดขณะนี้ร้านค้าเคทีซีสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคิวอาร์โค้ดของโมบายล์วอลเล็ตที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของ Alipay+
และล่าสุดกับโมบายล์วอลเล็ตใหม่ในระบบนิเวศน์ของ Alipay+ อีก 3 ราย ได้แก่ AlipayHK (ฮ่องกง) / KakaoPay (เกาหลีใต้) และ Touch ?n Go eWallet (มาเลเซีย) โดยทั้ง 4 โมบายล์วอลเล็ตตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง รวม 2.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยทั้งหมด 8.6 ล้านคนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้
"ผู้ประกอบการร้านค้าในไทยสามารถรับชำระเงินผ่านโมบายล์วอลเล็ตได้หลากหลาย ร้านค้าในเครือข่ายเคทีซีสามารถเชื่อมต่อระบบเพียงครั้งเดียวก็สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียได้มากถึง 1 พันล้านคน อีกทั้งยังสะดวก รวดเร็วกว่าการเชื่อมต่อกับโมบายล์วอลเล็ตของแต่ละประเทศแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หากลูกค้ามีโมบายล์วอลเล็ตในระบบนิเวศน์ของ Alipay+ เมื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จะสามารถใช้โมบายล์วอลเล็ตของประเทศตัวเองชำระเงินกับร้านค้าเคทีซีในไทยได้ทันที"
ขณะที่ร้านค้าสมาชิกเคทีซีที่รับชำระด้วย Alipay+ จะได้รับสิทธิประโยชน์ร่วมรายการส่งเสริมการขาย "Alipay+ Scan for offer" โดยลูกค้าโมบายล์วอลเล็ตของ Alipay+ จะได้รับโปรโมชันต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้าเช่นกัน โดยครึ่งปีหลังผู้ประกอบการธุรกิจที่รับชำระด้วยอาลีเพย์พลัสของเคทีซี ได้แก่ คิง เพาเวอร์ (King Power) เดอะมอลล์กรุ๊ป (The Mall Group) บู้ทส์ ประเทศไทย (Boots Thailand) และตามด้วยร้านค้าอีกมากมาย
เคทีซีคาดว่าการต่อยอดบริการครั้งนี้จะทำให้สิ้นปี 66 ปริมาณยอดรับชำระด้วยบัตรเครดิต วอลเล็ต Alipay และ Alipay+ จะเติบโตได้ถึง 20% หรือคิดเป็นยอดใช้จ่ายราว 100,000 ล้านบาท จากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.66) ธุรกิจร้านค้าเคทีซีที่รับชำระด้วยบัตรเครดิต และวอลเล็ต เฉพาะของ Alipay มีปริมาณรับชำระเพิ่มขึ้น 27% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
บริษัทยังจะมุ่งขยายฐานร้านค้าทั้งการรับชำระด้วยบัตรเครดิต Alipay และ Alipay+ เพื่อตอบโจทย์การรับชำระเงินข้ามประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯและพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี ภูเก็ต และหาดใหญ่ ปัจจุบันบริษัทมีร้านค้าที่ให้บริการรับชำระ 50,000 ร้านค้า และเฉพาะบริการรับชำระ Alipay สำหรับนักท่องเที่ยวจีนมีอยู่ 10,000 ร้านค้า โดยบางร้านไม่ได้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาใช้บริการมากนัก แต่เมื่อมี Alipay+ จะช่วยขยายฐานมากขึ้น โดยคาดหวังในอีก 3 ปีจะมีร้านค้าให้บริการรับชำระเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ร้านค้า
นายสิทธิพงษ์ กิตติประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป ด้าน Global Merchant Partnership ประจำประเทศไทย ของ แอนท์กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทร่วมมือกับเคทีซีอย่างต่อเนื่องและเสริมความแกร่งของการเป็นพันธมิตรในครั้งนี้โดยการนำเอา Alipay+ เข้าไปใช้กับเครือข่ายร้านค้าของเคทีซี และสนับสนุนการใช้งานดิจิทัลของธุรกิจไทย
Alipay+ เป็นชุดบริการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลและโซลูชันการตลาดระหว่างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจเอสเอ็มอีในการชำระเงินผ่านมือถือหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคระดับภูมิภาคและระดับโลกกว่า 1,000 ล้านราย ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการนำระบบชำระเงินดิจิทัลของต่างประเทศให้เข้ามาใช้จ่ายเพื่อเพิ่มยอดขายให้พันธมิตร ซึ่งครึ่งปีหลังจะได้เห็นการขยายความร่วมมือกับอีก 10 ประเทศในเอเชียและอาจจะมีแถบยุโรปด้วย บริษัทตั้งเป้าสิ้นปี 66 จะมีร้านค้ารับชำระบริการด้วยอาลีเพย์พลัสกว่า 100,000 ร้านค้า
นางกันยารัตน์ โชคอุ่นกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์และการเงิน เดอะมอลล์กรุ๊ป ระบุว่า บริษัทมีลูกค้าใช้บริการทั้งคนไทยและนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกหลังจากการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ความร่วมมือกับเคทีซีจะเป็นการเปิดช่องทางการชำระเงินให้กับลูกค้าสามารถเข้าถึงและใช้บริการอาลีเพย์พลัสได้สะดวกและรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ของอาลีเพย์พลัส และมาตรฐานความปลอดภัยที่มากกว่าเคย บริษัทจึงเชื่อมั่นว่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี