พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ DSI ร่วมตรวจสอบเหตุทุจริต บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และรับเป็นคดีพิเศษ การสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่ามีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ
ความคืบหน้าภายหลังจาก DSI และตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ร่วมกันประชุมหารือกำหนดแนวทางการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง STARK นั้น
อธิบดี DSI กล่าวว่า ได้สั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฉ้อโกง STARK และจะเร่งพยายามติดตามทรัพย์สินที่เหลืออีกจำนวนมาก ซึ่งมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าจะสูงถึง35,000-50,000 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้ที่จะทะยานไปสู่ 100,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมาคณะพนักงานสอบสวนได้มีการเชิญพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายรายเข้าให้ปากคำในฐานะพยานบ้างแล้ว อาทิ กรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกรรมการชุดเก่าและชุดใหม่ใน 4 บริษัทสำคัญ ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด, บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เนื่องจากเบื้องต้นพบว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำบัญชี และมีส่วนเกี่ยวข้องในบทบาทของการตัดสินใจ การเซ็นอนุมัติต่างๆ
ส่วนที่ว่าบุคคลเหล่านี้จะรู้เห็นในการกระทำความผิดด้วยหรือไม่นั้น คงต้องมีการสอบปากคำให้ครบถ้วนในทุกประเด็นก่อน และดูพยานหลักฐานเอกสารประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของคำให้การว่าเจ้าตัวจะมีการระบุว่าเข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดขอเอกสารเพิ่มเติมจาก STARK และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้พิจารณาในส่วนของพยานหลักฐานขนานไปกับคำให้การต่างๆ ทั้งเรื่องเส้นทางการเงิน เอกสารการจัดซื้อสินค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ระดับใด หากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จากนั้นจะพิจารณาว่าผู้ที่กระทำผิดมีใครเกี่ยวข้องบ้าง หรือเกี่ยวข้องในระดับใด เพื่อออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป
"คดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดีเอสไอจึงต้องมีการเร่งทยอยเรียกบุคคลต่างๆเข้ามาให้การในฐานะพยาน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมคำให้การและเอกสารพยานหลักฐาน ส่วนระดับผู้บริหารของ 4 บริษัทสำคัญเราก็จะมีการทยอยเรียกเข้าให้การในฐานะพยานเช่นเดียวกัน"พ.ต.ต.สุริยา กล่าว
สำหรับกรณีการเรียกนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK มาให้ข้อมูลนั้น พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานไปยังเจ้าตัวเรียบร้อยแล้ว คาดว่าหากนายชนินทร์เข้าให้การก็คงจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมกันนั้นก็ได้รียกบริษัทผู้สอบบัญชีเข้ามาให้การในฐานะพยานเช่นเดียวกัน ทั้ง บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ (Deloitte) ใสนฐานะผู้สอบบัญชี และ บริษัท ไพร้ชวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง(ประเทศไทย) จำกัด (PwC) ในฐานะ Special Audit
"บริษัทเหล่านี้ได้พบเห็นการทุจริตและมีข้อเท็จจริงบางส่วน เราจึงต้องเรียกมาสอบถามถึงพฤติการณ์ต่างๆ เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงให้ได้ เพราะตนไม่อยากให้ใครหลุดรอดไป จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้รอบด้าน อีกทั้งในกรณีที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคล 3 รายก่อนหน้านี้ (อดีตประธานกรรมการบริษัท และลูกน้องของประธานกรรมการ) ผู้เสียหายก็ได้มอบพยานหลักฐานรวมถึงพฤติการณ์ต่างๆของผู้ที่ถูกกล่าวหาไว้ให้กับทางดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว แต่เราต้องขอสงวนการเปิดเผยในส่วนของรายละเอียดไว้ก่อน"พ.ต.ต.สุริยา กล่าว
ขณะนี้ได้เร่งให้คณะพนักงานสอบสวนทำเรื่องราวให้ชัดเจนภายในสองสัปดาห์หลังจากนี้จะต้องมีความชัดเจนปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อผู้กระทำความผิด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือใครบ้างเข้าข่าย พร้อมกันนั้น DSI ได้เปิดสายด่วน 1202 เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีของหุ้น STARK ติดต่อแจ้งความเสียหายเข้ามาด้วย เพื่อรวบรวมจำนวนผู้เสียหายจากกรณีนี้กี่รายและรายละเอียดเพิ่มเติม
"หลังจากพบร่องรอยการทุจริตระหว่างนี้จึงต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานของทั้งพนักงานสอบสวนดีเอสไอเอง เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. และพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. พร้อมนำมาประกอบกับคำให้การก่อนพิจารณาตั้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิด และดีเอสไอจะดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป"อธิบดี DSI กล่าว