BCP ทุ่ม 1 หมื่นลบ.สร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมัน "ทอดทิ้ง" เดินเครื่อง Q4/67

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 28, 2023 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่าบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BCP, บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) และบริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) กับ บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL)

BSGF ถือเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่จะผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร มูลค่าการลงทุนก่อสร้างราว 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างโดย TTCL ราว 5,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ภายในไตรมาส 4/2567

การก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว หรือ SAF เป็นการร่วมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการบินในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศตามแผนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ SAF เป็นอย่างมากในฐานะเชื้อเพลิงสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

อย่างเช่น เมื่อปีที่แล้วสหรัฐกำหนดกฎหมายลดอัดราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act of 2022 - IRA) สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนผู้ผลิตด้วยการกำหนดภาษีในการผลิต 1.75 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน ในขณะที่ในทวีปยุโรป มีการใช้มาตรการบังคับให้ผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานทั่วไปในสัดส่วนอย่างน้อย 2% ในปี 2568 และกำหนดให้เพิ่มเป็น 5% ในปี 2573 จนถึงปี 2593 ต้องผสม 70% ส่วนญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าให้เครื่องบินสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เข้ามาใช้สนามบินญี่ปุ่นจะต้องมีสัดส่วนการใช้ SAF อยู่ที่ 10% ภายในปี 2573

สำหรับหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF ในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก จะใช้เทคโนโลยีในการปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (Pre-Treatment) ของบริษัท Desmet ประเทศมาเลเซีย โดยรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านโครงการ "ทอดไม่ทิ้ง" และช่องทางอื่นๆ และเทคโนโลยีกระบวนการกำจัดออกซิเจน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแดกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจนด้วย UOP Ecofining Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนของบริษัท Honeywell UOP ประเทศสหรัฐอเมริกา

"การลดการปล่อยคาร์บอนนับเป็นภารกิจสำคัญของทุกภาคส่วนหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สะท้อนรูปธรรมที่ชัดเจนของการดำเนินงานตามแผน BCP 316 NET ของบางจากฯ เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 และปล่อยก๊ซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2593 และยังเป็นการบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจ BCH Economy Model ทั้ง 3 ด้าน คือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน"

ขณะที่ด้านวัตถุดิบนั้นจะได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด จะเป็นผู้รวบรวมน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจจากประเทศมาเลเซีย รวมถึง BCP ได้จัดตั้งโครงการ "ทอดไม่ทิ้ง" เพื่อดำเนินการรับซื้อน้ำมันที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหารในสถานีบริการน้ำมันบางจากที่มีอยู่ทั่วประเทศในราคา 20-23 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตในส่วนของน้ำมันอากาศยานของบริษัทอีกประมาณ 5% จากเดิมที่อยู่ระดับ 12-15% ของกำลังการผลิตทั้งหมด พร้อมหนุนรายได้ให้เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ