นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์นักลงทุน เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนกว่า 25 บริษัทว่า ไตรมาส 3/66 จนถึงสิ้นปี 66 SET Index มีแนวโน้ม Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากไตรมาส 2/66 โดยแกว่งตัวในกรอบ 1,601-1,650 จุด และคาดว่าสิ้นปีจะปิดที่ 1,630 จุด ลดลง 77 จุด จากระดับที่คาดการณ์ครั้งก่อนที่ 1,707 จุด
ส่วนคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 66 ให้ไว้ที่เฉลี่ย 93.21 บาท ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 95.77 บาทต่อหุ้น และคาดการณ์ EPS Growth ของปี 66 อยู่ที่ 7.61%
ปัจจัยที่มีผลบวกต่อ SET Index คือ เศรษฐกิจในประเทศ โดยสมมติฐาน GDP ปี 66 คาดว่าเป็นบวกเฉลี่ย 3.38% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน (เม.ย.66) ซึ่งเคยใช้สมมติฐานอยู่ที่ 3.50% ในขณะที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ 80.53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50%
ขณะที่ การจัดตั้งรัฐบาล หรือการเมืองในประเทศ รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดหุ้นในไตรมาส 3/66
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไตรมาส 3/66 ซึ่งเป็นช่วงจัดตั้งรัฐบาล ผลสำรวจมองตลาด Sideway เนื่องจากการเมืองยังมีความไม่แน่นอน แต่หลังจากนี้ตลาดค่อนข้างจะเอื้อต่อการฟื้นตัว ถ้าเกิดการจัดตั้งรัฐบาลราบรื่น ไม่มีประเด็นที่ทำให้เกิดความกังวล โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน ก.ค.การเมืองน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นและสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็คาดว่าตลาดจะตอบรับในเชิงบวก
อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งรัฐบาลเกิดพลิกขั้ว จะทำให้ตลาดเกิดความไม่แน่นอน ดังนั้น ตลาดอาจชะลอลงเพื่อรอดูความเสี่ยง รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพลิกขั้ว และ อาจเกิดสภาวะ Overhang ในช่วงสั้นๆ
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้เพิ่มเติมข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับนโยบายที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยเสนอให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นนโยบายกระตุ้นการลงทุนและช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ กระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ ขยายตลาดสินค้าส่งออก ถัดมา ควรเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ และตามมาด้วย การออกนโยบายช่วยเหลือภาคประชน ได้แก่ ชะลอการเก็บภาษีหุ้น ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ออกมาตรการลดค่าครองชีพ แทนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และยกเลิกนโยบายแจกเงิน
นักวิเคราะห์ ยังได้แนะนำให้นักลงทุนกระจายพอร์ตการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง แบ่งเป็น
- เงินสดและเงินฝากระยะสั้น 14.24%
- กองทุนตราสารหนี้ 22.83%
- หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 24.87%
- หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 23.83%
- กองทุนอสังหาฯหรือ REIT 6.59%
- ทองคำหรือกองทุนทองคำ 7.43%
- อื่นๆ เช่น คริปโต 0.21%
ส่วนความเห็นต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศ และ กองทุนหุ้นต่างประเทศ แนะนำ กองทุนเทคโนโลยี กองทุนหุ้นจีน และเอเชีย จากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาปกติอีกครั้ง
สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก ธนาคาร การแพทย์ และการท่องเที่ยว ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจ Finance (non-bank) ปิโตรเคมี พลังงานและสาธารณูปโภค
รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป ดังนี้ (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)
1. ADVANC มองว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลดีต่อธุรกิจ
2. AOT โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
3. BBL โดยมองว่า มีความเชี่ยวชาญสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในตลาดนี้ สินเชื่อประเภทนี้แม้จะมีผลตอบแทนต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนั้น BBL มีสินเชื่อส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว และมีเงินฝากประจำสัดส่วนสูง ซึ่งได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด ทั้งยังรองรับความเสี่ยงได้มาก จากสัดส่วนสำรองต่อ NPL ที่มีอยู่ถึง 243% สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่ 171% อยู่มาก
4. CPALL ปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคเพิ่ม นักท่องเที่ยวฟื้นตัว
5. SCB มองว่าได้ประโยชน์จาก กนง.เปิดช่องขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลดีต่อหุ้นแบงก์โดยรวม ทั้งราคายัง Laggard กลุ่ม
สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง คือ DELTA เกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก และกลุ่มหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายรัฐบาลใหม่
นอกจากนี้ประเด็นการลงทุนในหุ้น IPO ในระยะนี้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลงไปค่อนข้างมาก แนะนำให้นักลงทุนศึกษารายละเอียดหุ้นในอดีตประกอบด้วย และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ เหตุการณ์จะทำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น