นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เปิดเผยผ่านรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์" เช้านี้ โดยยอมรับว่าเป็นผู้ตกแต่งบัญชีให้กับ STARK และบริษัทในเครือ 4-5 บริษัทจริง เพื่อทำให้ STARK เป็นหุ้นทองคำในตลาดหุ้นไทย โดยได้รับคำสั่งจากนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานคณะกรรมการบริษัท ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางตรง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างตลาดทุนอีกรายหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยข้อมูลทั้งหมดได้เข้าพบและแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว
"การตกแต่งบัญชีทั้งหมดของ STARK ตามที่ผมเข้าไปชี้แจงกับก.ล.ต.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เพื่อผลประโยชน์แก่ราคาหุ้น และยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ดำเนินการตกแต่งบัญชีโดยรับคำสั่งจากกลุ่มเจ้านายทั้ง 3 คน ผมไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด ผลประโยชน์ที่ได้มามาจากการบริหารงานของกลุ่มบริษัทในเครือทั้ง STARK และ Non STARK ที่มีประมาณ 30 บริษัท" นายศรัทธา กล่าว
รูปแบบการตกแต่งบัญชีของ STARK ได้มีการสร้างยอดขายเทียม ทำให้ยอดขายสูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้กำไรสูงขึ้นตาม และมีลูกหนี้เทียมโผล่ขึ้นตามมา จึงต้องนำเงินจากกลุ่ม Non STARK เข้ามาชำระลูกหนี้การค้า ตนเองในฐานะคนดูแลบัญชีทั้งกลุ่มก็ต้องเกลี่ยเงินทั้งกลุ่มเอาเงินจากทั้งในกลุ่มนอกกลุ่ม STARK มาชำระหนี้ที่อยู่ใน Phelps Dodge
"ตอนแรกๆไม่ได้ทำเยอะ เพื่อที่จะทำให้ราคาหุ้นค่อยๆ ขึ้นก็คงไว้ ง่ายๆประมาณนี้ และปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นของ STARK ที่ทำให้จนกระดาน มีสาเหตุมาจากจำนวนสุดท้ายในตอนที่มีรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นชิ้นที่ใหญ่สุดที่ถูกสั่งทำให้ต้องทำการตกแต่งบัญชี เพื่อทำให้รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งมีความเชื่อมั่น และเข้ามาซื้อหุ้น STARK แต่มีการล้มกระดานขึ้นในปี 64 ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา" นายศรัทธา กล่าว
การตกแต่งบัญชีเพื่อสร้างราคาหุ้นของ STARK ให้สูงขึ้นก่อให้เกิดผลประโยชน์มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท อย่างกรณีของการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่ซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนด์) ราคาใช้สิทธิ 5 บาทและกำหนดแปลงสิทธิปี 67 และยังมีดีลขายหุ้น Big Lot ราคากว่า 3 บาท ออกมาหลังจากทำ Reverse Takeover รวมถึงรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งสนใจทำดีล MD&A เข้าซื้อหุ้น STARK แต่ที่สุดดีลนี้ล้มไป เป้าหมายการสร้างราคาหุ้น STARK เพื่อดันหุ้นขึ้นไปที่ 5 บาทได้นั้นจะต้องมีการนำ STARK เข้า SET50 ให้ได้ แต่บริษัทต้องเข้า SET100 ให้ได้ก่อน
ส่วนการออกหุ้นกู้วงเงินรวมกว่า 9 พันล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้าในกลุ่ม STARK ใช้เงินของธนาคารทำทุกดีล โดยเฉพาะการซื้อบริษัทที่เวียดนามที่มีขนาดใหญ่มาก แต่กลับมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนธุรกิจของเวียดนามไม่ได้เป็นไปตามที่คิด ผลงานขาดทุนแต่เลือกชำระหนี้ตรงตลอดเวลา เงินจากชำระหนี้ของเวียดนามมาจากการบริหารงานของ Phelps Dodge เมื่อ Phelps Dodge จ่ายชำระหนี้แทนเวียดนาม ซึ่งขาดทุน ทำให้เกิดปัญหากระแสเงินสดก็เลยฉุดทั้งหมด
ต่อมา STARK จึงต้องการขายหุ้นให้กับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง บวกกับตอนนั้นคาดว่าน่าจะผ่านไปได้เรียบร้อย จึงออกหุ้นกู้ล็อตแรก และ ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ รอลุ้นให้ดีลจบ Cash Flow ก็จะแก้ปัญหาได้ โดยหุ้นกู้ไม่เกี่ยวตกแต่งบัญชี แต่เพื่อใช้ชำระคืนหนี้
นายศรัทธา กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างราคาหุ้น STARK ให้สูงขึ้น ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเหตูการณ์ดังกล่าวจะเป็นผู้ถือหุ้นที่ขายหุ้น Big lot ในราคาสูง และการแปลงวอร์แรนต์ เป็นหลักหมื่นล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่กู้จากสถาบันการเงินมาทำดีลต่าง ๆ เงินจากการขายเพิ่มทุน และการออกหุ้นกู้ รวมแล้วหลายหมื่นล้านบาท ส่วนนายชนินทร์ และอดีตผู้บริหารคนอื่น ไม่ทราบว่าได้รับผลประโยชน์อย่างไร เพราะไม่ได้ถือหุ้น STARK
เส้นทางการเงินของ STARK ได้ผ่านบัญชีของตนเอง และเข้าไปที่บริษัทลูกๆของ STARK ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกัน ขณะที่ตนเองไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ในการสร้างราคาหุ้น STARK และไม่มีเส้นทางการเงินผ่านเข้ามาทางบัญชีของภรรยา โดยบัญชีที่ถูกอายัดไปเป็นบัญชีเงินเดือนที่ปกติโอนให้ภรรยาไว้ใช้จ่าย และเสียภาษีปกติ รวมทั้งบัญชีเพื่อผ่อนบ้าน ไม่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งบัญชี
"ผมต้องเรียนตรงว่าผมได้สารภาพกับก.ล.ต.แล้ว ถ้ากระบวนการถึงที่สุด ผลเป็นยังไง ผมก็น้อมรับตามนั้น" นายศรัทธา กล่าว