นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่าสิ้นปี 66 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสแตะระดับ 1,600 จุด หากมีความชัดเจนของการเมืองในประเทศ จัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ มีนโยบายเอื้อเศรษฐกิจ รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสคงดอกเบี้ยจะหนุนให้นักลงทุนต่างชาติที่เทขายช่วงเลือกตั้งทยอยกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยและสามารถ Outperform ในตลาดโลกได้ แม้ว่าไตรมาส 3/66 ดัชนีมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจทั่วโลกและไทยเติบโตได้น้อย
"ขณะนี้ SET Index อยู่ที่ระดับ 1,450-1,460 จุด ซึ่งระดับ 1,450 จุด ถือว่าถูกเป็นอันดับที่ 5 ของตลาดหุ้นไทยในรอบ 16 ปี ในเชิง Price per Book Value (P/BV) ที่ 1.39 เท่า ใกล้เคียงกับการเกิด Covid รอบ 2 ในกลางปี ค.ศ.2021 ถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า" นายวิศิษฐ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 66 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงเลือกตั้งในประเทศขายออกมากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ทิศทางช่วงครึ่งหลังของปี 66 ในช่วงต้นสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว และทิศทาง Fund Flow โลกยังคงอ่อนแอ ตลาดหุ้นจะขึ้นต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเติบโตเศรษฐกิจ หลังดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน่าจะถึงจุดสูงสุดในปลายไตรมาส 3/66 คาดว่าเฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจัง และเชื่อว่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองในทางบวกในไตรมาส 4/66 ในทางกลับกันถ้าเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันทีตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนเป็นลบเพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี
อย่างไรก็ตาม ในเดือน มิ.ย.66 เฟดยังส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอีก เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Core PCE โดยคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีก 0.25% ในไตรมาส 3 นี้ (อาจจะเป็นปลายเดือนก.ค.) เพราะยังไม่สบายใจกับตัวเลข Core PCE ที่ยังคงอยู่ในระดับ 4.7%
"ตลาดหุ้นทั่วโลกไตรมาส 3 มีโอกาสปรับตัวลดลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญและจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลกและไทยในช่วงไตรมาส 3 อ่อนแอลง" นายวิศิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ สภาพคล่องในตลาดโลกกำลังลดลงจาก 7 สาเหตุ ได้แก่ 1. เฟดอาจจะต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเม็ดเงินกว่า 6.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในครึ่งปีหลังของปี 66 ผ่าน Treasury General Account ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) 2. ธนาคารกลางยุโรปจะต้องคืนเงิน LTRO กว่า 4.8 แสนล้านยูโรในเดือน มิ.ย.- ก.ค.66 3. Dot Plot ของเฟด มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25-0.50% ในไตรมาส 3/66 4. ความสนใจในการทำ QT ของเฟดอาจจะมีอีกครั้งและอาจจะสูงถึงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่ 7.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะนำไปสู่การแข็งค่าเงินดอลลาร์ คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมากกว่า 2-3% แต่เชื่อว่าจะเป็นรอบท้ายๆ ของการแข็งค่า 5. สัญญาณทางตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังบ่งบอกเศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น Inverted Yield Curve ของ Bond Yield สหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1982 บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่การถดถอยในไตรมาส 4 ปีนี้หรือปีหน้าและตัวเลข PMI ที่ตกต่ำลง
6. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐอาจจะลดลงจากปัจจุบัน 2 แสน-3 แสนตำแหน่งต่อเดือน มาสู่ระดับต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่งต่อเดือนในไตรมาส 4/66 7. สำหรับ SET Index ปริมาณเงินในระบบของไทย (M2 growth) เติบโตต่ำสุดในรอบ 15 ปี นับจากปี 2551 โดย M2 growth จะเป็นตัวชี้นำของ SET Index ล่วงหน้า และการมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายบุคคลจะลดลงอย่างมีนัย แต่นักลงทุนสถาบันจะเป็นฝ่ายซื้อสุทธิเนื่องจาก Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรไทยอยู่ในระดับน่าสนใจ บ่งบอกดัชนีเป้าหมายที่ 1,552 จุด
นายวิศิษฐ์ มองว่า ทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4/66 น่าจะฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3 เนื่องจาก 1.) การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และมุมมองว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในไตรมาส 1/67 2.) มองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะ Outperform เนื่องจากเอเชียจะได้รับผลกระทบจาก Interest shock น้อยกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนา ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ Outperform และ ตลาดหุ้นจีนจะฟื้นตัวในไตรมาส 3/66
และ 3) คาดว่าผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อายุ 10 ปีของสหรัฐได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ 4.3% แต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3/66 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 3/66
นอกจากนี้ ปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจไทย คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมา มากกว่า 10% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศดีขึ้นตามมาด้วย และมีโอกาสที่การอุปโภคบริโภคจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 22% ของ GDP ทำให้ GDP ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว รวมถึงการส่งออกไทยคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/66 ซึ่งปกติการส่งออกจะมีมูลค่าเฉลี่ยราว 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ฐานต่ำในไตรมาส 4/65 ที่ 21,933 อาจทำให้เราเห็นการเติบโตของการส่งออกในไตรมาส 4/66
ด้านกลยุทธ์มองว่าการลงทุนใน Mega Trend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 67 , หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้ง YoY และ QoQ ในไตรมาส 2/66 เช่น BBL BEM CPALL CPAXT KTB MINT รวมทั้งกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์จาก Searching for Yields (เงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี)