นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส คงเป้าดัชนี SET สิ้นปี 66 ที่ 1,610 จุด และกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ที่ 91.80 บาท/หุ้น ช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะเห็นการฟื้นตัวหลังปัจจัยทางการเมืองชัดเจน และจะเริ่มเห็น Fund Flow ต่างชาติทยอยไหลกลับเข้ามาหลังจากออกไปมากแล้วในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ช่วยหนุนดัชนี SET ให้กลับฟื้นขึ้นมาจากขณะนี้
กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 3/66 แนะนำหุ้นที่คาดว่างบฯไตรมาส 2/66 และไตรมาส 3/66 จะออกมาดี หรือหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาลงไปลึกแล้วและมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ได้แก่ BEM, JMT, SCGP, SCB, IVL, ERW และ III รวมถึงหาจังหวะทยอยสะสมหุ้นเมื่อดัชนีลงไปต่ำระดับกว่า 1,480 จุด และหากปัจจัยการเมืองมีความชัดเจนแล้วมองว่าดัชนีจะปรับขึ้นไปทะลุ 1,520 จุดได้
สำหรับการแบ่งสัดส่วนการลงทุนนั้นแนะนำให้ถือเงินสด 10% หุ้นไทย 30% หุ้นต่างประเทศ 30% ตราสารหนี้ 15% ส่วนที่เหลืออีก 15% เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก หรือ Structure Note และหากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเห็นการสิ้นสุดลงแล้ว และมีโอกาสปรับลดลง สินทรัพย์ที่ถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเริ่มได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะกอง REITs ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่นักลงทุนอาจจะหาจังหวะการทยอยสะสมได้เช่นกัน
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/66 มองว่ายังแกว่งผันผวน โดยที่ยังมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอย (Recession) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังมีการส่งสัญญาณในการขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักๆยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นอยู่ค่อนข้างมาก
ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงรอความชัดเจนของปัจจัยการเมือง โดยหลังจากเมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 66) ได้มีการโหวตประธานสภาฯและรองประธานสภาฯผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องรอการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการจัดตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ซึ่งในช่วงหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงจากกรณีของ STARK ส่งต่อการลงทุนของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ Fund Flow ไหลออกไปในครึ่งปีแรกแล้ว 1.07 แสนล้านบาท และทำให้ดัชนี SET ในครึ่งปีแรกลดลง 9.9% ซึ่ง Underperform ตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น 12.8%
"ปัจจัยการเมืองถือเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยมาก ไม่ว่าผลของการเมืองจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่ตลาดต้องการมี 2 เรื่อง คือ 1. Process ในการโหวตเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลต้องไว จะต้องโหวตรอบเดียวผ่านได้ยิ่งดี 2. รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ และมีความเป็นเอกภาพ เพราะหลังจากนี้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกที่จะมากระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะ Recession ซึ่งเป็นความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจประเทศและมีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทย" นายเทิดศักดิ์ กล่าว
ขณะเดียวกันนโยบายการเงินในประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อนถึงปัจจุบันจำนวน 6 ครั้ง แต่มองว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้ง แต่การประชุมในครั้งที่จะถึงนี้อาจจะคงดอกเบี้ยก่อน แล้วค่อยไปปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยได้อยู่บ้าง แม้ว่าเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 66 ที่ออกมาจะเริ่มเห็นการชะลอตัวลงมาต่อเนื่องจากเดือนพ.ค. 66 แต่ยังมีโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังปรับขึ้นได้ตามทิศทางของดอกเบี้ยโลก