นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า หลังจากหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น และ บมจ. ออลล์ อินสไปร์ (ALL) เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการเสนอขายหุ้นกู้กลุ่ม High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้ง BB+ ลงไปถึงไม่มีการจัดเรทติ้ง รวมทั้งหุ้นกู้มีประกันก็ต้องพิจาณาว่าสินทรัพย์ที่มาค้ำประกันจะครอบคลุมหนี้ทั้งหมดหรือไม่ โดยในช่วงที่ผ่านมาหุ้นกู้บริษัทขนาดกลางและเล็กประสบปัญหาการเสนอขายหุ้นกู้ บางรายออกหุ้นกู้ 400-500 ล้านบาท แต่ขายได้แค่ 90 ล้านบาท
แต่สำหรับหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งสูงยังขายได้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีชื่อเสียง โดยช่วงครึ่งปีหลังยังมีหลายบริษัทขนาดใหญ่ยื่นเสนอขายหุ้นกู้ ได้แก่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC), บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) ทำให้คาดว่ายอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวของภาคเอกชนในปีนี้คงจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงพอสมควรในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น
"ตลาดหุ้นกู้เริ่มไม่คึกคักตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ ALL ผิดนัด คนก็เริ่มกังวล แต่เคส ALL วงเงินแค่ 2,300 ล้านบาท แต่เคส STARK ความเสียหายสูงถึง 9.1 พันล้านบาท และมีทั้งกองทุนที่เข้าลงทุนด้วย จึงกระทบกันมาก...แต่คิดว่านักลงทุนจะเลือกซื้อแต่หุ้นกู้บริษัทใหญ่ๆ ช่วงนี้คนก็เริ่มถามหาพันธบัตรออมทรัพย์ ทำให้เชื่อว่าปีนี้มูลค่าหุ้นกู้ปีนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท" รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าว
ThaiBMA คาดว่าในปี 66 ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ครึ่งปีแรกมีการออกหุ้นกู้ระยะยาวไปแล้วกว่า 6.17 แสนล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีหลังจะมีหุ้นกู้ที่เตรียมออกมาทดแทนรุ่นเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 2-2.4 แสนล้านบาท และการออกเพื่อระดมเงินทุนใหม่ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท
อนึ่ง ในปี 65 มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาว 1.27 ล้านล้านบาท โดยมีหุ้นกู้ High Yield ราว 1.15 แสนล้านบาท แต่ในครึ่งแรกปี 66 มี High Yield ราว 5.2 หมื่นล้านบาท
ณ 5 ก.ค.66 มีหุ้นกู้คงค้างที่มีปัญหารวม 37,018 ล้านบาท ได้แก่ หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระ (Default Payment) จำนวน 6 บริษัท มูลค่ารวม 23,623 ล้านบาท (รวม STARK และ ALL) , หุ้นกู้บริษัทที่ปรับโครงสร้างหนี้ (Restructure) จำนวน 14 บริษัท มูลค่ารวม 13,355 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ที่มีปัญหาคิดเป็นไม่ถึง 1% ของมูลค่าคงค้างรวม 4.87 ล้านล้านบาท ขณะที่กว่า 90% เป็นหุ้นกู้ Investment Grade
สำหรับกลุ่มหุ้นกู้ที่เข้าฟื้นฟูกิจการ (Rehabilitation) จำนวน 3 บริษัท มูลค่ารวม 73,057 ล้านบาท ได้แก่ บมจ.การบินไทย (THAI) บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) และ บมจ.ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH)
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า มองภาพใหญ่ตลาดตรสารหนี้ เชื่อว่าผลกระทบจากเคสที่มีปัญหาจะไม่ลุกลามจนทำให้ Yield กระโดด โดยตลาดหุ้นกู้ในตลาดแรกจะเห็นถึงสภาพการซื้อขายเร็วกว่าตลาดรองที่มีการซื้อขายน้อยครั้ง
"เชื่อว่านักลงทุนไม่ได้เหมาโหล การมีปัญหาหุ้นกู้ STARK เพราะมีการกระทำผิดของบริษัทที่มีการตกแต่งบัญชี ภาพใหญ่ตลาดตราสารหนี้ผู้ลงทุนจะแยกแยะได้ การตัดสินใจลงทุนต้องระมัดระวัง จะทำให้ Issuer และ Underwriter ทำงานให้หนักสามารถเสนอขายและให้นักลงทุนเข้าใจเพื่อตัดสินใจได้เหมาะสม"
นางสาวอริยา กล่าวเสริมว่า การขายหุ้นกู้ในปัจจุบันได้ขยายไปตลาดแมสมากขึ้นผ่านแอปของธนาคาร แอปเป๋าตังค์ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และจำนวนเงินที่ใช้ลงทุนไม่ได้มาก ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุน ขณะที่หุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง หรือไม่ใช่ investment grade ก็ไม่สามารถเสออขายให้กับนักลงทุนรายย่อยตามเกณฑ์ของก.ล.ต.
ช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนทั่วไป (PO) ในสัดส่วนสูงขึ้นเป็น 37% จากปีก่อน 28% โดยบริษัทที่เสนอขาย PO สูงสุด 3 อันดับแรก คือ บริษัท เอก-ชัย โลตัส ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม (Lotus's) , บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCB) และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)
*รายบุคคลถือหุ้นกู้ STARK 90%
นางสาวอริยา กล่าวว่า หุ้นกู้ STARK มีสถานะ Default ทั้ง 5 รุ่น รวมมูลค่า 9,198.40 ล้านบาท ผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) 4,521 ราย คิดเป็น 89.87% และผู้ลงทุนสถาบัน (II) 7 ราย ถือว่ามีจำนวนนักลงทุน HNW สูงมาก ก็ต้องสืบต่อว่าได้มีการเสนอขายตรงให้กับนักลงทุนรายบุคคลหรือไม่
ส่วนหุ้นกู้ ALL ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้แจ้งให้ผู้ออกชำระหนี้โดยพลันหุ้นกู้ทั้ง 7 รุ่น ส่งผลให้หุ้นกู้ Default ทั้งหมด 7 รุ่น มูลค่ารวม 2,334 ล้านบาท โดยเป็นนักลงทุนรายบุคคล 98.57% บริษัทและนิติบุคคล 1.26% และนักลงทุนต่างชาติ 0.46%
ขณะที่หุ้นกู้ บมจ.ช ทวี (CHO) ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 66 ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นอนุมัติผ่อนผันเหตุผิดนัด ทำให้หุ้นกู้ CHO เปลี่ยนสถานะจากหุ้นกู้ผิดนัดชำระเป็นหุ้นกู้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ทั้ง 4 รุ่น มูลค่า 745.69 ล้านบาท