วันนี้การประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ จะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทยทุกฝ่ายต่างเกาะติดสถานการณ์การเมือง ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร โดยจะเริ่มเปิดประชุมเวลา 09.30 น. และจะให้ส.ส.-ส.ว.ได้อภิปรายรวม 6 ชั่วโมง และคาดว่าจะเริ่มลงคะแนนโหวตนายกรัฐมนตรีราว 17:00 น. ซึ่งเสียงที่ 8 พรรคร่วมต้องการขาดอีก 65 เสียง ซึ่งต้องรอติดตามกันแบบไม่กระพริบตาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
การลงคะแนน จะเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยใช้วิธีการขานชื่อ ตามลำดับชื่อของสมาชิกรัฐสภาจนครบ 750 คน
อย่างไรก็ดี ในการโหวตเลือกนายกฯ วันนี้ มีมุมมองฉากทัศน์ออกมาเป็น 3 รูปแบบ คือ
1. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ส.- ส.ว. รวมกันได้มากกว่า 376 เสียงจาก 750 เสียง ได้เป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่ตามฉันทามติ อย่างไรก็ดี ต้องจับตาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยว่า จะร่วมยกมือโหวตสนับสนุนนายพิธาหรือไม่ เพราะหากได้เสียงจาก 2 พรรคอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงส.ว. แล้วก็ได้
2. หากไม่เป็นไปตามแนวทางแรก ยังมีโอกาสให้เสนอแคนดิเดทคนเดิมได้ แต่หากเลือกนายกฯ 2-3 ครั้งแล้ว ส.ว. ยังไม่ยกมือโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ หรืองดออกเสียงทั้งหมด จะเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคลำดับที่สองขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยยังมีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นรัฐบาล โดยเงื่อนไขนี้ เชื่อว่าจะมี ส.ว. โหวตสนับสนุน หรืออาจจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ และภูมิไทยสนับสนุน
3. มีความเป็นไปได้ คือ ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจับมือ ส.ว. เสนอชื่อพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลเสียงข้างน้อย
อย่างไรก็ตามกรอบการโหวตนายกฯ รอบแรกคือวันนี้ แต่หากยังโหวตและคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ จะกำหนดให้รอบที่สอง เป็นวันที่ 19 ก.ค. และหากยังไม่ได้อีก ได้วางกรอบรอบที่ 3 ในวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งสภาฯ มองว่ากรอบเวลา 3 วันนั้นเพียงพอที่จะได้นายกฯ แล้ว
- ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน ที่นัดชุมนุมเพื่อรอผลการโหวตนายกฯ บริเวณหน้ารัฐสภา ตั้งแต่เวลา 15.00 เป็นต้นไป อาทิ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, กลุ่ม We Volunteer และกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เป็นต้น
โดยทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กำหนดให้บริเวณพื้นที่ถนน 1 ช่องจราจร และทางเท้าภายในศูนย์ราชการเกียกกาย ฝั่งสนามเด็กเล่น พื้นที่ประมาณ 710 ตารางเมตร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต รองรับผู้ชุมนุมได้ประมาณ 100-200 คน เป็นสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ โดยให้มีผลระหว่างวันที่ 12-21 ก.ค. 66
ประเด็นด้านเศรษฐกิจและธุรกิจที่น่าสนใจวันนี้
- หอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย
- บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (MJD) แถลงข่าวเปิดตัว "เมย์ฟิลด์" (Mayfield) แบรนด์โครงการที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์แห่งใหม่ภายในเครือเมเจอร์ฯ ทั้ง 3 ทำเล พร้อมเผยโฉมครั้งแรก "เมย์ฟิลด์ ปิ่นเกล้า" (Mayfield Pinklao) ทาวน์โฮมหรูสไตล์ Urban Modern Classic ท่ามกลางธรรมชาติ ใจกลางปิ่นเกล้า
- บมจ.จีเอเบิล (GABLE) และ บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด แถลงข่าว "CGN-Cybersecurity in Every DNA" กับการเปิดตัว GN (CyberGenics) สตาร์ทอัพมือโปรด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ แถลงโดยโดย นายชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ธนาคารกรุงไทย (KTB) จัดงาน Press Briefing เรื่อง Green Port โอกาสยกระดับแหลมฉบังสู่ท่าเรือสีเขียว
- สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดสัมมนาหัวข้อ "เคล็ดลับจับกลโกงบัญชี และแนวทางคัดกรองหุ้น"
ภารกิจของคณะรัฐมนตรีรักษาการ
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีทำบุญและเปิดแพรคลุมป้ายอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงบประมาณ ณ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงบประมาณ กรุงเทพฯ
ภารกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
- นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566