Decrypto: AI กับสถานะบุคคลตามกฎหมาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 17, 2023 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นกระแสอยู่ทั่วโลก ณ ขณะนี้ ทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถเทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์ โดยฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเรียนรู้ การคิด วิเคราะห์ ทั้งยังสามารถทำงานได้โดยไม่หยุดพักและแทบไม่เกิดข้อผิดพลาด ทุกวันนี้ AI จึงถูกนำไปใช้งานอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การสงครามระหว่างประเทศ การเงินในองค์กรข้ามชาติ หรือแม้กระทั่งการทำการบ้านของเด็กนักเรียน-นักศึกษา

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI ที่มีความคล้ายมนุษย์มากขึ้น อย่างเช่น โซเฟีย (Sophia) ที่ได้รับการออกแบบจากอดีตนักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้ว มีลักษณะคล้ายมนุษย์ เช่น รูปร่างภายนอก การเคลื่อนไหว ความชาญฉลาดสามารถสื่อสารตอบโต้และแสดงสีหน้าต่าง ๆ กับมนุษย์จริงได้ จนได้รับสัญชาติจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้เป็น บุคคลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic person

จากตัวอย่างดังกล่าวจึงน่าพิจารณาว่าหาก AI ถูกพัฒนาจนมีความคิดเป็นอิสระเช่นเดียวกันกับมนุษย์แล้ว หรือถูกนำไปใช้งานเยี่ยงมนุษย์แล้ว เช่น การนำ AI ไปเป็นตัวแทนในการประกอบธุรกิจหรือกิจกรรมทางธุรกิจ สถานะของ AI นั้น ๆ ควรจะถูกกำหนดหรือรับรองให้มีสถานะบุคคลตามกฎหมายหรือไม่ เพียงใด

ปัจจุบัน กฎหมายของประเทศไทย กำหนดให้มีบุคคล 2 ลักษณะ คือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล โดยบุคคลธรรมดานั้น กฎหมายวางหลักว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการนับเป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมายของไทยนั้น จะต้องคลอดออกจากครรภ์มารดาเท่านั้น ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย (ณ ปัจจุบัน) ดังกล่าวทำให้ AI ที่แม้จะมีความคิดและลักษณะเหมือนมนุษย์เพียงใดก็ตามไม่สามารถนับเป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมายได้

ส่วน นิติบุคคล ปัจจุบันนี้ในทางกฎหมายแล้วมีการรับรองสิทธิให้เป็นบุคคลที่ไม่ใช่มนุษย์ใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ การสมมติ กล่าวคือรัฐสมมติให้นิติบุคคลเป็นบุคคลขึ้นมา และการเป็นนิติบุคคลที่แท้จริง กล่าวคือนิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลจริง ๆ ไม่ใช่บุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นมา เห็นได้จากการทุกวันนี้ที่กฎหมายรับรอง บริษัท ให้เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลโดยกฎหมายเช่นกัน

การพัฒนาของ AI ที่จะมีความเหมือนมนุษย์หรือเยี่ยงมนุษย์มากขึ้นทุกวันจนไม่มีความแตกต่าง สังคมในอนาคตอาจตั้งคำถามของสิทธิเสรีภาพของ AI หรือแม้กระทั่งตัว AI เองก็อาจตั้งคำถามต่อมนุษย์ถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองเช่นกัน ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้เริ่มมีการทบทวนและพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์บ้างแล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตกฎหมายจะต้องกำหนดสภาพลักษณะการเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลให้กับ AI อย่างแน่นอน

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ