นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งแรกของปี 66 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี 65 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 21,735 ล้านบาท ลดลง 1.22%
ธนาคารยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามแนวทางการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่งที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยในไตรมาสก่อน และได้มีสำรองฯ ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 1/66 โดยแม้สินเชื่อดังกล่าวถูกจัดเป็นสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในไตรมาส 2 ธนาคารก็ยังคงมีความแข็งแกร่งจากการเตรียมการมาก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม สำรองฯ ในไตรมาส 2 นี้ แม้ว่ายังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 32.77% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่มีความใกล้เคียงกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า เพื่อรองรับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยังส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังไม่กระจายตัวทั่วถึง และส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง
โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 54,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ร่วมกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 12.25% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.54% แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตรา 0.46%
นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 25.64% หลัก ๆ จากมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 14.61% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.94% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/66 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/66 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.36% สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 27,223 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นหลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตขึ้น ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้า ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 43.37% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.50%
ณ วันที่ 30 มิ.ย.66 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,268,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 65 จำนวน 21,731 ล้านบาท หรือ 0.51% หลัก ๆ เกิดจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และเงินลงทุนสุทธิที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง หลัก ๆ จากการดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ การตัดหนี้สูญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อใหม่ยังคงเติบโตในกลุ่มลูกค้าตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร
ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.20% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 147.31% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.01% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.04%
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2/66 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ภาพการฟื้นตัวยังไม่กระจายตัวทั่วถึง เนื่องจากรายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวในกรอบจำกัด โดยแรงกดดันจากปัญหาค่าครองชีพและภาระหนี้สินยังคงมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 66 นั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจประคองทิศทางการเติบโตได้ แต่แนวโน้มในภาพรวมยังคงเปราะบางและยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเด็นคุณภาพหนี้ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา