ราคา BBL บวก 1.22% หรือเพิ่มขึ้น 2.00 บาท มาที่ 166.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 973.40 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.11 น. จากราคาเปิด 167.00 บาท ราคาสูงสุด 167.50 บาท ราคาต่ำสุด 166.00 บาท
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านบาท (+11% QoQ, +62% QoQ) ดีกว่าประมาณการของเรา/consensus ที่ 12%/11% เพราะกำไรจากการลงทุน (FVTPL) สูงเกินคาด แต่หากไม่รวมรายการนี้ กำไรในไตรมาส 2/66 จะสูงกว่าประมาณการของเรา 4%
ทั้งนี้ กำไรสุทธิในงวดครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 65% ของประมาณการเต็มปีของเรา
ขณะที่สินเชื่อรวมขยายตัว 2% QoQ และ 0.6% YTD เนื่องจากสินเชื่อระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นถึง 10% QoQ แต่ -27% YoY ในขณะที่สินเชื่อในประเทศยังคงอ่อนแอ และอยู่ในโหมดหดตัว
แต่ NIM โดยรวมขยับเพิ่มขึ้น 14bps QoQ และ 70bps YoY โดยยีลด์จากการปล่อยกู้ในตลาดเงิน และการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยีลด์สินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียง 10bps ซึ่งช้ากว่าต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น 20bps เราอาจจะกล่าวได้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ NIM ดีขึ้นคือโครงสร้างสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป
รายได้ค่าธรรมเนียมลดลงประมาณ 8% QoQ และ 2% YoY เนื่องจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารบันทึกกำไรจากการลงทุนก้อนใหญ่ถึง 3.3 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าไตรมาสก่อนกว่าเท่าตัว ทั้งนี้ ธนาคารได้นำกำไรพิเศษจากการลงทุนบางส่วนมาลงในเงินลงทุนระบบ และค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ทำให้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเร่งตัวขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น โดยตัวเลข NPLs ลดลง 5% QoQ และ 11% YoY ในขณะเดียวกัน สำรองที่ตั้งเพิ่มในไตรมาสนี้ทำให้สัดส่วน NPL coverage เพิ่มขึ้นเป็น 285% (จาก 265% ในไตรมาสก่อน)
เนื่องจากกำไรสุทธิใน H1/66 คิดเป็น 65% ของประมาณการกำไรเต็มปีของเรา ดังนั้น เราจึงมองว่าประมาณการกำไรของเรายังมี upside อีก ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" ประเมินราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 186 บาท (PBV ที่ 0.65x)
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า BBL ประกาศกำไรไตรมาส 2/66 ที่ 11,294 ล้านบาท ดีขึ้น 11%QoQ และ 62%YoY ดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าราว 12% โดยทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตได้ดีกว่าคาด ในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 5%QoQ และ 34%YoY เนื่องจากสินเชื่อเติบโตได้ดีราว 2%QoQ อีกทั้ง NIM ยังปรับตัวขึ้น 12 bps ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวดีขึ้น 7%QoQ และ 3%YoY แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะอ่อนตัวลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ตามภาวะตลาดทุน แต่กำไรจากเงินลงทุนปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยหนุน ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 7%QoQ โดยส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางการตลาด ทำให้ C/I Ratio เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 47% ด้านสัดส่วน NPL ปรับตัวลดลงเหลือ 2.81% จาก 3.04% ในไตรมาส 1/66 ซึ่งการลดลงที่ค่อนข้างมากนี้ เราคาดว่าเป็นผลจากการ Write-off NPL ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 5%QoQ จากนโยบายการตั้งสำรองที่ยังคงหลักระมัดระวังเพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้สัดส่วน NPL Coverage Ratio เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 287% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในกลุ่มฯ
ภาพรวมทั้งปียังโตดีจาก NIM ที่สูงขึ้น ยังคงประมาณการกำไรปี 66 ที่ 36,571 ล้านบาท (+25%YoY) โดยกำไรงวด H1/66 คิดเป็นราว 59% ของประมาณการทั้งปี สำหรับในงวดที่เหลือของปีจะยังเห็น NIM เป็นปัจจัยหนุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในการประชุม กนง. เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ยังมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือน ส.ค. ทำให้แนวโน้มกำไรในไตรมาส 3/66 ยังดีขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจเห็นกำไรอ่อนตัวในไตรมาส 4/66 จากค่าใช้จ่ายปลายปีตามฤดูกาล
ราคาหุ้นยังค่อนข้าง Laggard คงคำแนะนำ "ซื้อ" คงเป้าหมายปี 66 ที่ 181 บาท อิง PBV 0.66 เท่า โดยราคาหุ้นปัจจุบันที่ยังซื้อขายที่ระดับ PBV 0.6 เท่า ถือว่ายังค่อนข้าง Laggard กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เมื่อพิจารณาในด้านความแข็งแกร่งสำรองส่วนเกิน