- ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้นัดหมาย 5 พรรคขั้วรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติและทางออกของประเทศ ซึ่งผลการหารือของทุกพรรคส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางเดียวกัน คือยืนยันว่าไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ หากต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายในการแก้ไข หรือยกเลิก มาตรา 112
และในวันนี้จะการนำข้อมูลความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากคณะทำงานอีกชุดหนึ่งว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะมีการนัดหารือกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อนำข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไปแจ้งกับทาง 8 พรรรคต่อไปว่าจะเดินหน้าอย่างไร ก่อนที่จะโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค. นี้
- ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่เริ่มออกมามากขึ้น พุ่งเป้าไปที่พรรคเพื่อไทย เนื่องจากไม่ต้องการให้ไปจับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคที่เคยถูกสังคมมองว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" และ "พรรคพลังประชารัฐ" พร้อมกับขุดคลิปจากโซเชียลออกมาย้ำเตือนความจำของ "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยพูดไว้ในช่วงดีเบตหาเสียงเลือกตั้ง การันตีด้วยศักดิ์ศรีของหัวหน้าพรรคว่าพร้อมลาออก หากมีการจับมือกับพรรค 2 ลุง
- นอกจากนี้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัดทวงคืนอำนาจให้แก่ประชาชน แสดงจุดยืนต่อ 8 พรรคประชาธิปไตย และไม่เอาสว. ในวันที่ 26 ก.ค. ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป
- ด้านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมแฉหลักฐานเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หากเพื่อไทยเสนอแคนดิเดทของพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้นัดเตรียมเปิดข้อมูลแฉนายกฯ คนใหม่ วันอังคารนี้
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย 1. นายกูเฮง ยาวอหะซัน สส. พ้นจากตำแหน่ง 20 มี.ค.66 2. นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สส. พ้นจากตำแหน่ง 20 มี.ค.66 3. นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล สส. พ้นจากตำแหน่ง 20 มี.ค.66 4. นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ สส. พ้นจากตำแหน่ง 20 มี.ค.66 5.นายสุทัศน์ เงินหมื่น สส. พ้นจากตำแหน่ง 20 มี.ค.66 และ 6. พล.อ.พหล สง่าเนตร สว. เข้ารับตำแหน่ง 23 พ.ค.66
ประเด็นด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ
- นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. ร่วมกันแถลงดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน มิ.ย.66 นอกจากนี้ นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานฯ แถลงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
- นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) แถลงข่าวงานออกแบบบ้านของคนรักแมว CAT?S EYE VILLE เยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง
- นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ "แฟคตอริ่งออนไลน์" การให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Non-Bank รายแรกในประเทศไทย รวมถึงแผนการปล่อยสินเชื่อ "GREEN PROJECT" ให้กลุ่มธุรกิจที่รักษาสิ่งแวดล้อม
- บมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (I2) ลงนามแต่งตั้งผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน พร้อมนำเสนอข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
- บมจ. ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) แถลงทิศทางการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2566
- การประชุมสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2
ภารกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
- นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานพิธีถวายปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ประจำปี 2566 ณ ลานคนเมือง กทม.1
จากนั้นนายชัชชาติ เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 16/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ กทม.1
- น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ประชุมหารือความร่วมมือเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างมีความหมาย (Meaningful access to public healthcare services) ของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตเมือง ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 กทม.1