บมจ.ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (I2) หุ้นสายเทคงานภาครัฐ มองโอกาสโตตามเทรนด์พลังงานสะอาด โครงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Tranformation) ที่ต่อยอดมาจากบริการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารและโทรคมนาคม (IT Infrastructure) พร้อมเดินหน้าเพิ่มศักยภาพรองรับงานใหญ่ และทำ M&A เพื่อสร้าง New S-Curve ผนึกพันธมิตรแน่นปึ๊กอย่าง บมจ.เอ็มเอฟอีซี (MFEC) ที่จับมือสร้างการเติบโตไปด้วยกัน
I2 เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 120 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.70 บาท เปิดจองซื้อวันที่ 25-27 ก.ค.66 และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 8 ส.ค.ในกลุ่มอุตสาหกรรม เทคโนโลยี (TECH)
I2 ประกอบธุรกิจบริการ System Integration (SI) แบบครบวงจร ได้แก่ ให้คำ ปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Infrastructure, Network, Transformation, อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณดาวเทียม และเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน
นายอธิพร ลิ่มเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร I2 เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า เงินระดมทุนส่วนแรกใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในงานบริการโครงการขนาดใหญ่แก่ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมูลค่างานโครงการที่บริษัททำอยู่ จะอยู่ที่ประมาณสัก 300 ล้านบาท และเชื่อว่าหลังจากที่ได้เงิน IPO จะทำให้บริษัทสามารถรับงานโครงการขนาดใหญ่กว่าเดิมได้
ขณะที่เงินระดมทุนส่วนที่สองใช้สำหรับลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท และเงินระดมทุนที่เหลือจะให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
"เราเห็นว่ามีบริษัทพันธมิตรหลายรายที่เคยได้ร่วมงานกัน มีธุรกิจใกล้เคียงกับเรา สามารถมาต่อยอดกับธุรกิจที่เราดำเนินอยู่ได้ มี Solution เหมาะสมที่น่าจะเอื้อประโยชน์กับบริษัท เราก็เลยคิดว่าจะนำเงินก้อนนี้มาทำ M&A ด้วย" นายอธิพรกล่าว
โดยสิ้นไตรมาส 1/66 บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ราว 1 พันล้านบาท ซึ่งทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 68 และแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี ก็มั่นใจว่าจะมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะต้องใช้ดิจิทัลมาพัฒนากระบวนการทำงานอีกมากตามนโยบาย Thailand 4.0
ขณะที่รายได้จากโซลูชั่นด้านการจัดการและประหยัดพลังงานก็มีทิศทางที่ดีเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลได้ให้สัญญาในการประชุม COP26 ว่าจะให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งลูกค้าสำคัญของบริษัทอย่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ก็เป็น Key Man สำคัญที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้
นอกจากนี้ธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Services) ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่แล้วที่จะต้องให้บริการอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน ดังนั้นทางบริษัทเชื่อว่ากสทช.ก็ยังมีงบประมาณมาเพื่อมาให้บริการตรงนี้อย่างต่อเนื่อง