นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับทราบพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ถิอเป็นเรื่องที่บริษัทไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ทั้งๆที่บริษัทมีการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก อย่างถูกต้อง และได้รับใบอนุญาตจาก 8 หน่วยงาน มีใบอนุญาต 8 ฉบับ ขอความเห็นก่อนดำเนินการไม่น้อยกว่า 7 หน่วยงาน และผ่านการพิจารราจากคณะกรรมการ 5 คณะกรรมการ
บริษัทต้องการขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐในการเยียวยา และหาทางออกเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านที่อยู่อาศัยในโครงการแอชตัน อโศก ANAN และพันธมิตรร่วมทุน คือ มิตซุย ฟูโดซัง จากผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่อยากให้เกิดผลกระทบที่เป็นบรรทัดฐานจากเหตุการณ์นี้กระทบต่อโครงการอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
"เราน้อมรับต่อคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้ จึงขอความเป็นธรรม เพราะเราเป็นเอกชนที่ทำงานโดยสุจริต มีการขออนุญาตถูกต้องทุกอย่าง จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออกกับทางบริษัท และช่วยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ และไม่อยากให้กรณีนี้เกิดผลกระทบไปเป็นวงกว้าง" นายชานนท์ กล่าว
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ANAN กล่าวว่า บริษัทและเจ้าของร่วม 580 ครัวเรือน ซึ่งมียูนิตในโครงการแอชตัน อโศก ที่ขายไปแล้ว 68 ยูนิต ได้รับผลกระทบร่วมกัน ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างโครงการดำเนินการถูกต้องและสุจริต และทางออกของโครงการที่ตั้งอยู่บนที่ดินเวนคืนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการให้ค่าตอบแทนที่ถูกต้องแก่ รฟม.เกือบ 100 ล้านบาท ทำให้บริษัทอยากขอความเป็นธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากผหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
บริษัทจะเร่งดำเนินการในการชี้แจงข้อมูลกับลูกบ้านในช่วงเย็นวันนี้ รวมถึงเร่งเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันนี้ โดยจะพยายามหาแนวทางออกที่ดีที่สุด ไม่ให้ต้องรื้อถอนอาคารโครงการ เพื่อให้ลูกบ้านที่พักอาศัยยังสามารถพักอาศัยอยู่ได้ตามปกติ โดยหนึ่งในแนวทางที่บริษัทมองว่าเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง คือ การที่กทม. รฟม. และบริษัท ร่วมกันซื้อที่ดินเพื่อเป็นทางออกให้กับโครงการแอชตัน อโศก แต่ยังต้องมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง
ในส่วนของลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วมและพักอาศัยในโครงการขณะนี้ หลังจากมีคพิพากษาจากศาลปกคครองออกมาแล้วก็ยังสามารถพักอาศัยต่อได้ เพราะต้องมีขั้นตอนการรอเอกสารการเพิกถอนก่อสร้างอาคารจากทางราชการออกมาก่อน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง แต่ในระหว่างนี้บริษัทจะมีการแจ้งลูกบ้าน และรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการหาทางออกในการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้บริษัทต้องมีการตั้งสำรองความเสียหายตามสัดส่วนการถือหุ้นที่บริษัทร่วมลงทุนในโครงการแอชตัน อโศก ในส่วนของห้องชุดพักอาศัยที่ยังไม่ได้มีการขายออกไป ซึ่งมีมูลค่าที่จะต้องตั้งสำรองฯเข้ามาในงบการเงินของ ANAN ราว 250-300 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงการแอชตัน อโศก ขายไปแล้ว 87% จากมูลค่าโครงการ 6.48 พันล้านบาท แต่ในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น เพราะการตั้งสำรองฯที่เกิดขึ้นถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท และบริษัทยังมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นแกผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทได้ครบถ้วน
"ยอมรับว่ากรณีของแอชตัน อโศก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าทั้งคนไทย และต่างชาติที่จะเข้ามาซื้ออสังหาในไทย จากการตีความกฎหมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพันธมิตรญี่ปุ้นของเราที่อาจจะมีความสงสัยอยู่บ้าง และเรายืนนันการดำเนินการโดยสุจริต และมีโครงการที่เราเปรียบเทียบที่ดำเนินการในลักษณะที่เหมือนกับแอชตัน อโศก ที่มี 13 โครงการ และในลักษณะใกล้เคียงกันราว 100 โครงการ ซึ่งเราไม่อยากให้กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาฯไทย จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออก เยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านและบริษัทที่ได้รับผลกระทบ" นายประเสริฐ กล่าว