นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการทำนโยบายแจกเงินดิทัล 1 หมื่นบาท ของพรรคเพื่อไทยว่า หากมองในด้านเทคโนโลยีก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ และทำได้ในหลายรูปแบบ ผ่านการใช้ระบบฐานข้อมูลดิจิทัล อาทิ ในรูป e-Wallet หรือ บล็อกเชน โดยสามารถใส่เงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือใช้ฐานข้อมูลจากบัตรประชาชน เพื่อกระจายเงินดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงหรือจัดให้เป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหา
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐต้องคำนึงแหล่งที่มาของงบประมาณ และผลที่จะเกิดกับเงินเฟ้อ เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมากในการแจก และเงินดิจิทัลจะหมุนเร็วมากกว่าการแจกเงินสด ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
พร้อมมองว่า หากรัฐบาลใหม่จะผลักดันเพื่อใช้นโยบายดังกล่าว ก็จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายนี้ รวมทั้งพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากที่สุด
"กังวลในด้านเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้ออาจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ เชื่อว่าโปรเจ็กท์นี้น่าจะเอาผู้เชี่ยวชาญมาพูดกัน" นายจิรายุส กล่าวในงานเสวนา "เปิดโลกนวัตกรรม ก้าวทันเทรนด์การเงินยั่งยืน" ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
นายจิรายุส ระบุว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ควรผลักดันให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกระทรวงเกรดเอ เพื่อผลักดันนโยบายพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน (ESG) โดยชูให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่การปฎิวัติดิจิทัลสีเขียว หรือ Green Digital Revolution เพื่อรองรับกระแสที่ทั่วโลกประกาศให้อุตสาหกรรมต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนด์ไดอ็อกไซด์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ที่กำหนดให้บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเปิดเผยข้อมูล ESG ระยะแรก และในระยะ 2 และ 3 จะกำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องค้าขายกับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีนโยบาย ESG
ดังนั้น หากประเทศไทยยังวางนโยบายช้าหรือไม่ปฎิบัติตามข้อกำหนดทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนในไทยไหลออก หรือเงินทุนที่จะไหลเข้าลดลง เนื่องจากเงินทุนที่จะไหลเข้าในภูมิภาคเอเชีย จะไหลเข้ามาในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ อุตสาหกรรมสีเขียว ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดิมอีกต่อไป