"ออมรับว่าหลังมีการเผยแพร่ข้อมูลและมีชื่อของโครงการทั้ง 3 ขึ้น มีลูกค้าเข้ามาสอบถาม 30 ราย ซึ่งเราได้อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจทั้งหมดแล้ว ซึ่งลูกค้า 29 รายก็มีความเข้าใจ ไม่ได้ติดใจอะไร แต่มี 1 รายที่ขอกลับไปปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายก่อน ซึ่งหากลูกค้ามีข้อสงสัยหรือไม่สบายใจ เราพร้อมที่จะเคลียร์เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทำให้ลูกค้าไม่เกิดความกังวล เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อ sentiment ของลูกค้า และต่อตัวของบริษัทด้วย และมั่นใจว่าทั้ง 3 โครงการ ไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งอยากให้ลูกค้ามีความมั่นใจ" นายธงชัย กล่าว
บริษทชี้แจงว่าโครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออกจากถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากที่ดินเดิมของโครงการมีทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ แต่ถูก รฟม.เวนคืนส่งผลให้โครงการไม่มีทางเข้า-ออก ดังนั้น รฟม.จึงอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออกอาคารจอดรถแล้วจรเป็นทางเข้า-ออกโครงการได้เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมก่อนถูกเวนคืน โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา
ปัจจุบันโครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว มูลค่า 2 พันล้านบาท ขายไปแล้วกว่า 80% หรือราว 1.6 พันล้านบาท และเตรียมโอนให้กับลูกค้าในช่วงต้นปี 67
ส่วนโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ได้ขออนุญาตก่อสร้างใช้ทางเข้า-ออกจากถนนรัชดาภิเษก ซอย 6 โดยที่ดินเดิมของโครงการถูก รฟม.เวนคืนบางส่วนเพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรม อาคารจอดรถแล้วจร และลานจอดรถเพิ่มเติม ส่งผลให้ที่ดินโครงการไม่มีทางเข้าออก ด้วยเหตุนี้ รฟม. จึงอนุญาตให้ใช้ที่ดินผ่านเข้า-ออกของโครงการ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืนโดยไม่มีเงื่อนระยะเวลา
นายธงชัย กล่าวอีกว่า บริษัทยังยืนยันว่าที่ดินในมือ (Land Bank) ที่เตรียมรองรับการพัฒนาโครงการในอนาคตไม่มีที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินเวนคืนของหน่วยงานราชการ ซึ่งการพัฒนาโครงการในอนาคตสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดข้อพิพาททางกฎหมายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของการที่ NOBLE เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทย อยากวอนให้ภาครัฐมีการชี้แจงข้อมูลของกฎหมายและระเบียบการใช้ที่ดินของหน่วยงานราชการออกมาให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคม โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำพื้นที่มาใช้ในการพัฒนาโครงการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและข้อพิพาทขึ้นภายหลัง และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
"หากกฎหมายและกฎระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินของหน่วยงานราชการยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะที่ดินของหน่วยราชการที่อยู่ในเมือง และมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้าไว้แล้ว จะเป็นการที่ขัดแย้งต่อแผนการพัฒนาเมือง ทำให้ที่ดินรอบๆที่ดินหน่วยงานราชการที่มีรถไฟฟ้า ที่เป็น Potential ไม่เกิดการใช้ประโยชน์ขึ้น คงเป็นเพียงทุ่งหญ้า ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ทำให้การพัฒนาเมืองไม่ก้าวหน้าขึ้น และก็ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลงไป ต่างจากต่างประเทศที่จะเห็นว่าบริเวณรอบรถไฟฟ้ามีการพัฒนาโปรเจ๊คต่างๆรอบๆสถานีรถไฟฟ้ามากมาย ซึ่งเราเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯก็อยากให้ภาครัฐออกมาชี้แจงให้ชัดเจน และก็เห็นในอนันดา ซึ่งเป็นเพื่อร่วมวงการอสังหาฯด้วยเช่นกัน" นายธงชัย กล่าว
ด้านความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลังจากเกิดประเด็นขึ้นบริษัทได้มีการไปชี้แจงกับสถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ และทริส เรตติ้ง ในการอธิบายถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งบริษัทได้รับการอนุญาตที่ถูกต้อง และไม่มีการถูกฟ้องร้องใดๆเกิดขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจและเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งยอมรับว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นต่อทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้าที่สนใจและมองหาคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้าอาจจะมีการพิจารณาในการตัดสินใจซื้อเยอะขึ้น และมีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆของโครงการที่สนใจซื้อ รวมถึงลูกค้าต่างชาติก็จะมีการพิจารณามากขึ้นในการเข้ามาซื้อสังหาริมทรัพย์ในไทยจากกฎหมายที่มีความไม่แน่นอน
*เตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 7 โครงการ 1.83 หมื่นลบ. ใน H2/66
นายธงชัย เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 เตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 7 โครงการ มูลค่ารวม 1.83 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีโครงการคอนโดมิเนียมหรูขนาดใหญ่บนถนนวิทยุ ใกล้กับเซ็นทรัลแอมบาสซี มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับฮ่องกงแลนด์ เตรียมเปิดขายในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยผลักดันยอดขายในปีนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.2 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ครึ่งปีแรกทำยอดขายแล้ว 8.4 พันล้านบาทต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เล็กน้อย
ขณะที่ในด้านของรายได้ยังมั่นใจทำได้ตามเป้าหมาย 1.2 หมื่นล้านบาท โดยที่ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการทยอยรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาอีก 8 พันล้านบาท จาก Backlog ที่มีอยู่ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก ตามการโอนที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้
รวมถึงการเดินหน้าทยอยขายโครงการที่มียูนิตเหลือขายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในช่วงไตรมาส 3/66 จะเห็นการก้าวกระโดของผลการดำเนินงานจากการรับรู้รายได้จากการขาย 2 โครงการคอยโดมิเนียมพระราม 9 และคูคต ให้กับบมจ.พราว เรียล เอสเตท (PROUD) ซึ่งบริษัทยังเป็น Strategic Partner กับ PROUD ในการร่วมบริหารโครงการ และเข้าไปถือหุ้นใน PROUD สัดส่วน 5-6%