นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) เป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer?s Life and Business) สร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท และมีบริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของ KIV 14 บริษัท เช่น บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด , บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด , บริษัท เงินให้ใจ จำกัด , บริษัท คาร์ฮีโร่ จำกัด และบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด เป็นต้น
การจัดตั้ง KIV เป็นเรือธงที่ 1 ที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยบริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาเรียนรู้ระบบหลายๆอย่าง
"ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของเคไอวี โดยมีคุณพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่ง Group Chairman ของ เคไอวี และแยกเคไอวีออกมา เพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ขยายความร่วมมือกับพันธมิตร ภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธนาคารมั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน" นางสาวขัตติยา กล่าว
นายพัชร สมะลาภา Group Chairman ของ KIV เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของ KIV ซึ่งเริ่มทดลองทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 65 โดยบริษัทตั้งเป้ากำไรปี 66 อยู่ที่ 900-1,100 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 4-4.5 หมื่นล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ในการลงทุน 2.5-3 หมื่นล้านบาท และในปี 69 กำไรอยู่ที่ 4.5-5 พันล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 7.5-8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มูลค่ารวมสินทรัพย์ในการลงทุนอยู่ที่ 6.5-7 หมื่นล้านบาท
เป้าหมายหลัก คือ การเพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) การดำเนินงานของบริษัทอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น จำนวนลูกค้ากว่า 20 ล้านราย K PLUS เงินทุน ข้อมูล ไอที และสาขา เป็นต้น ซึ่งทำให้บริษัทมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น