นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงาน The 1 SET international Conference on Family Business "Family Business in the Changing World" ว่า ธุรกิจครอบครัวที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีสัดส่วน 57% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด หรือ 451 บริษัท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ราว 8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43% ของมาร์เก็ตแคป โดยกว่า 70% ของ IPO ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมามาจากธุรกิจครอบครัว
ธุรกิจครอบครัวที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค โดยมีการจ้างงานรวม 920,000 อัตรา อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่มีปัญหาในส่งผ่านธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่ง 90% ของธุรกิจครอบครัวไม่สามารถส่งผ่านไปได้เกินรุ่นที่ 3 หรือรุ่นหลาน นอกจากนั้นบริษัทธุรกิจครอบครัวยังต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างมั่นคงมักจะมาจากปัจจัยภายใน เช่น การวางแผนการสืบทอด การจัดโครงสร้าง หรือการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างสมาชิกในครอบครัวในการบริหารธุรกิจและบริหารความมั่งคั่งในครอบครัว รวมทั้งให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น
ทั้งนี้ บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ต้องการเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของธุรกิจครอบครัว ช่วยสนับสนุน สร้างกลไก รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวไทยและภูมิภาคมีความเข้มแข็งเติบโตเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจไทย
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลท. กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวยั่งยืน คือต้องตระหนักรู้ถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงต่อของธุรกิจ เพื่อทำให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงโลกด้วย ซึ่งหลังจากการจัดงานในครั้งนี้ จะมีโครงการ และงานวิจัยเผยแพร่มากขึ้น รวมทั้งห้องเรียนผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจครอบครัว
สำหรับธุรกิจครอบครัวที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ รวมทั้งบริษัทในกลุ่ม mai