กทม.ยันไม่ต้องรื้อถอน "แอชตัน อโศก" แค่ปรับแก้-ขออนุญาตก่อสร้างใหม่ถูกต้อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 3, 2023 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กทม.ยันไม่ต้องรื้อถอน

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงกรณีแนวทางการดำเนินการกับโครงการแอชตัน อโศกว่า โครงการแอชตัน อโศก ไม่ถึงขั้นรื้อถอนอาคาร เพียงให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ยื่นหนังสือขอใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างใหม่กับ กทม.ภายใน 30 วัน

ในวันพรุ่งนี้ กทม.จะส่งหนังสือเพิกถอนใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ให้กับสำนักงานเขตวัฒนาที่รับผิดชอบดูแลโครงการในพื้นที่ และให้ส่งแจ้งไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ตามคำสั่งศาลปกครอง จากนั้นจะเปิดให้ทางบริษัทยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่

แต่หาก อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก ไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งขอยื่นใหม่ได้ทันก็สามารรถขยายเวลาเป็น 120 วันได้ พร้อมรายละเอียดการขอขยายเวลา ซึ่งขณะนี้ กทม.ยังไม่ติดต่อกับทาง อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก เนื่องจากวันนี้เพิ่งเปิดทำการหลังหยุดยาว

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ยืนยันว่าได้ออกใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก อย่างถูกต้องตามระเบียบ เนื่องจากก่อนหน้านี้ อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก ยื่นอุทรณ์ขอออกใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างฯ เนื่องจากการใช้เวลาออกใบอนุญาตใช้เวลานาน ขณะที่ทาง อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก มีรายละเอียดการก่อสร้างมาอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขของกทม.ครบถ้วน

สำหรับลูกบ้านที่พักอาศัยโครงการ แอชตัน อโศก ยังสามารถพักอาศัยและใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมถึงการใช้ทางออกเดิมก็ยังใข้ได้ตามปกติ โดยเจตนารมณ์ของศาล มองจากคำตัดสิน ศาลฯเพียงต้องการให้การตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ให้การขออนุญาตก่อสร้างถูกต้อง ไม่เกี่ยวข้องกับการเพิกถอนการใช้ทางออกที่ทับซ้อนพื้นที่เวนคืนของ รฟม.และ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เนื่องจากอาคารไม่มีความเสี่ยงเรื่องตึกถล่ม หรือการเข้าออกของรถดับเพลิง

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การเริ่มขอใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก เริ่มมาตั้งแต่เดือนก.พ. 58 จากผู้พัฒนาโครงการ คือ อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก โดย กทม.ได้แจ้งข้อทักทวงเรื่องแบบแปลน และที่ดิน รฟม.ถึง 3 ครั้งในช่วงปี 58-59 ซึ่งทางผู้พัฒนาโครงการก็ได้ยื่นชี้แจงรายละเอียดตามข้อทักท้วงมาครบถ้วน

ประกอบกับตอนยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างทางผู้พัฒนาโครงการก็มีหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างและเป็นทางเข้า-ออกของเจ้าของร่วมอาคารชุดจากทางรฟม.แนบมาประกอบอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามกฎข้อบังคับของกทม. ทำให้กทม.ออกใบรับแจ้งอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่พิเศษให้กับผู้ประกอบการตามหน้าที่ เพราะหากไม่ออกให้กทม.ก็จะมีความผิดในฐานะที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ และจะเกิดเป็นข้อพิพาทกับผู้พัฒนาโครงการได้ "ทาง กทม.ได้มีการปฏิบัติตามหน้าที่อย่างถูกต้องตามขั้นตอน เพราะผู้พัฒนาเองก็ยื่นรายละเอียดก่อสร้างโครงการมาครบถ้วนตามเช็คลิสต์ที่เป็นไปตามกฎของกทม.ในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เราก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของเราที่จะออกใบอนุญาตให้กับผู้พัฒนาโครงการตามระเบียบ เพราะหากเราล่าช้าหรือไม่ออกใบอนุญาตให้ ทั้งที่เขายื่นรายละเอียดมาถูกต้อง เราก็ผิดในฐานะที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งก็ตามมาที่การฟ้องร้องกทม. และเรื่องที่เกิดขึ้นในการออกใบอนุญาตก่อสร้างก็เกิดขึ้นก่อนที่ทีมกทม.ชุดปัจจุบันจะเข้ามาทำงาน" รศ.วิศณุ กล่าว อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขของโครงการ แอชตัน อโศก เป็นการย้อนกลับไปเริ่มตั้งต้นการขออนุญาตก่อสร้างโครงการใหม่ตั้งแต่ต้น ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทางกทม.จะใช้ข้อบังคับตามมาตรากร 41 ให้ผู้พัฒนาโครงการแก้ไขรายละเอียดและแบบแปลนโครงการในการยื่นขออนุญาตใหม่ โดยมีระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาได้เป็น 120 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน แต่ต้องชี้แจงรายละเอียดให้กับกทม.ทราบเหตุผล แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่ขอขยายออกไป กทม.ก็มีอำนาจในการใช้ข้อบังคับมาตรา 42 ในการสั่งรื้อถอนอาคาร

แต่ในกรณีของโครงการ แอชตัน อโศก ยืนยันว่ายังสามารถแก้ไขใบอนุญาตได้ และมีทางออกในการแก้ปัญหา เบื้องต้นหากดูจากแปลนที่ตั้งโครงการการเปิดทางออกซอยสุขุมวิท 19 ยังมีความเป็นไปได้ หากเป็นไปตามกฎการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงพิเศษ ซึ่งจะต้องมีทางออกที่มีความกว้างอย่างน้อย 12 เมตร เพื่อเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะความกว้าง 18 เมตร ซึ่งในส่วนของซอยสุขุมวิท 19 มีความกว้บงของทางออกตามแปลนระวางของกทม.ตรงตามเงื่อนไข ซึ่งมีความกว้างอยู่ที่ 20.5 เมตร แต่ทางกทม.จะต้องไปวัดระยะความกว้างใหม่อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ายังตรงกับแปลนระวางของกทม. และไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องรื้อถอนอาคารเหมือนกับโครงการในซอยร่วมฤดีที่ไปวัดระยะความกว้างทางออกโครงการไม่ตรงกับแปลนระวางของกทม. และอีกทางออกหนึ่งจะเป็นบริเวณซอยสุขุมวิท 21 ที่เชื่อมสู่ถนนอโศกที่มีความกว้างเพียงพอและเป็นไปตามกฎหมายกำหนด

ทางผู้พัฒนาโครงการจะต้องมีการพิจารณา และสามารถร่วมปรึกษาหารือกับทางกทม.ได้ แต่ในส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินเพื่อเปิดทางออกใหม่ของโครงการ แอชตัน อโศก ทางกทม.จะไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของกทม.อย่างถูกต้องตามระเบียบ

ขณะที่ นายชัชชาติ กล่าวว่า กรณีนี้ทำให้ กทม.ต้องทบทวนกระบวนการทำงานและขั้นตอนการออกใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ที่รัดกุมและรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาในส่วนของรายละเอียดการขออนุญาต เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องและนำมาสู่การเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างภายหลังจากโครงการก่อสร้างเสร็จและมีผู้อยู่อาศัยเข้าพักแล้ว และไม่ให้กรณีในลักษณะเดียวกันซ้ำๆ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกทม.จะต้องมีการหาความจริงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง โดยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเข้ามาภายหลัง เพื่อดำเนินการตรวจสอบหาความจริงในประเด็นที่อาจเกิดความกังวลขึ้นในสังคม

ส่วนโครงการอื่นๆที่ได้มีการขอใบอนุญาตก่อสร้างเข้ามาที่ กทม.ยังไม่พบเคสที่ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างเข้ามาที่มีลักษณะเดียวกับโครงการ แอชตัน อโศก รวมถึงโครงการที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างไปแล้ว ซึ่งบางโครงการก็มีประเด็นเกิดขึ้นในสังคม แต่ก็ได้มีการชี้แจงออกมาให้เกิดความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม กทม.จะให้ทางกรมการควบคุมอาคาร ภายใต้สังกัดของกทม.รวบรวมข้อมูลว่ามีโครงการใดบ้างในกทม.ที่เข้าข่ายลักษณะเดียวกับโครงการ แอชตัน อโศก เพื่อจะได้ทราบและเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งในกรุงเทพฯมีคคอนโดมิเนียมกว่า 1,000 อาคาร ส่วนใหญ่ก๊ไม่มีปัญหาลักษณะเดียวกับโครงการแอชตัน อโศก เกิดขึ้น

สำหรับแผนการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯในอนาคตนั้น โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินตาบอดในกรุงเทพฯใกล้กับพื้นที่ถูกเวนคืนมาสร้างสถานีรถไฟฟ้า ทาง กทม.จะต้องมีการนำเรื่องพูดคุยและหารือกับรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายควบคุมอาคาร ของกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการอนุญาตใช้ประโยชน์ของพื้นที่โดยรอบพื้นที่เวนคืนของหน่วยงานราชการ ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าผลกระทบจากโครงการ แอชตัน อโศก มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใกล้รถไฟฟ้าจะต้องคิดและพิจารณาในการตัดสินใจซื้อมากขึ้นในเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกทม.ที่ต้องการให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า และการให้มีที่อยู่อาศัยรอบๆรถไฟฟ้า เพื่อทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯเดินททางโดยให้รถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก และลดการใช้รถยนต์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ดินตาบอดให้เกิดประโยชน์ขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ