นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนอาคารโครงการแอชตัน อโศก กรณีดังกล่าว ผู้ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบโดยตรง คือ เจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีหลายหน่วย ทั้งในสำนักงานเขตวัฒนา กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. สำนักการจราจรและขนส่ง ประกอบด้วย ผู้รับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิทั้ง 3-4 ใบ ผู้อนุญาตให้เชื่อมทางสาธารณะ ผู้ให้ใบรับรองเปิดใช้อาคาร คณะกรรมการพิจารณาแบบของสำนักควบคุมอาคาร โดย กทม. ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่ง ตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อไป
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ตนจะนำความตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นที่สุด และเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้ว ไปยื่นร้องเรียนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ดำเนินการสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่ง ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม. ซึ่งเป็นผู้เซ็นรับแจ้งหรืออนุญาตทั้งหมด รวมทั้งสั่งให้หยุดการใช้อาคารดังกล่าวตาม ม.41, 42 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ด้วย
"การออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างฯอาคารคอนโดแอชตัน อโศกมีถึง 4 ฉบับตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 เมื่อศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมจะต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำหรือการใช้อำนาจดังกล่าว จะปล่อยให้เลยตามเลยหรือนิ่งเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวมิได้ เพราะจะเกิดผลเสียต่อการบริหารราชการของกรุงเทพมหานครในอนาคต"
ดังนั้นสมาคมฯ จึงต้องมาร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลายซึ่งควรที่จะประกอบด้วยบุคคลากรภายในและภายนอก กทม. ขึ้นมาชุดหนึ่งตามที่เห็นควร เพื่อพิจารณาไต่สวน สอบสวน และลงโทษ พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม.ทั้งหมดที่ออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างฯ ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว โดยต้องกำหนดวันเวลาการสิ้นสุดการสอบสวนเอาผิดที่ชัดเจน
นอกจากนั้น กรณีที่เกิดขึ้นทราบว่า กทม.ได้ออกหนังสือแจ้งให้เจ้าของคอนโดฯ ดังกล่าวเร่งดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนให้ถูกต้อง โดยจะต้องมีการจัดซื้อจัดหาที่ดินจากเอกชนเพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกคอนโดให้ได้โดยเร็ว โดยต้องกำหนดระยะเวลาที่ให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติที่ชัดเจน ตาม ม.41 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และหลังจากนั้นขอให้ออกคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารพิพาท หรือบริเวณคอนโดดังกล่าว และจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ บริเวณอาคารพิพาทดังกล่าว ตามมาตรา 40(2)ด้วย และหากผู้ประกอบการจัดซื้อจัดหาที่ดินเป็นทางเข้า-ออกไม่ได้ก็ต้องสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 ของกฎหมายดังกล่าวต่อไปด้วย
นอกจากนี้ จากรณีที่ผู้ประกอบการมีข้อเสนอมายัง กทม.เพื่อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทดังกล่าว โดยผ่านสำนักการโยธา กทม.ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)นั้น สมาคมฯ ขอคัดค้าน เพราะจะถือได้ว่าเป็นการยืมมือ กทม.หรือภาครัฐในการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนโดยตรง เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ แต่หากมีการแก้ไขกฎหมายก็อาจต้องนำความไปร้อง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป