TK แจงกำไรร่วงรับผลคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ-เข้มงวดปล่อยสินเชื่อเกาะติดเกณฑ์ใหม่ธปท.ก่อนติดเครื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 8, 2023 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

TK แจงกำไรร่วงรับผลคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ-เข้มงวดปล่อยสินเชื่อเกาะติดเกณฑ์ใหม่ธปท.ก่อนติดเครื่อง

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้ครึ่งแรกของปี 66 ณ สิ้น 30 มิ.ย. 66 ที่ 836.9 ล้านบาท ลดลง 15.1% จาก 985.5 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 65.4 ล้านบาท ลดลง 74.1% จาก 252.7 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนช่วงเวลาเดียวกัน มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,190.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% จาก 4,158.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 65 โดยในไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิ 23.3 ล้านบาท ลดลง 80.2% จาก 117.5 ล้านบาท รายได้รวม 421.8 ล้านบาท ลดลง 14.3% จาก 492.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

รายได้เช่าซื้อไตรมาส 2/66 มีจำนวน 306.7 ล้านบาท ลดลง 15.8% จาก 364.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ลดลงตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66

อีกทั้ง TK ใช้นโยบายบริหารความเสี่ยงด้วยการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศ ระหว่างที่รอความชัดเจนจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนพ.ย. 66 ที่จะถึงนี้

นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) กล่าวว่า ล่าสุด ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ 3.7% เมื่อพ.ย. 65 เป็น 3.6% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 25.5 ล้านคน และจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 2.38 ล้านล้านบาทในปี 66 นี้ ส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว

แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบต่างๆ เช่น ต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน และสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายราคาพลังงานที่ยังคงสูง รวมถึงการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อปรับนโยบายสู่สมดุล จากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงและที่ปรับตัวลงอย่างช้าๆ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วและแรง จากดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา Fed Fund Rate นับตั้งแต่มี.ค. 65 มีการปรับตัวขึ้นจาก 0% ไปที่ระดับ 5.25-5.50% เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 11 ติดต่อกัน และถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 50 สูงสุดในรอบ 22 ปี

นอกจากนี้ ทาง Credit Rating Agency 2 แห่ง จาก 3 แห่ง ปรับลด Credit Rating มีเพียง Moody?s ที่ยังคง Credit Rating ที่ Aaa โดย Standard & Poor?s (S&P) ได้ปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ ในปี 54 และ Fitch Ratings ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ AA+ เมื่อ 1 สิงหาคม 2566

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของยูโรโซนเท่ากับ 3.75% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 44 สูงสุดในรอบ 22 ปี ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ธปท. ได้ประกาศปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.25% เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 66 ผลจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว TK จึงยังคงต้องระมัดระวังในนโยบายการขยายธุรกิจรวมถึงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น

"เป้าหมายของเราคือการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจและขยายพอร์ตจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงด้วยการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุม และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้สอดรับ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การบริหารจัดการภายในเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ควบคู่กับการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการบริการต้นทุนทางการเงิน โดยในไตรมาส 2 ปี 2566 มีต้นทุนทางการเงิน 9.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% จาก 8.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการกู้เงินในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่บริษัทฯ มียอดปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศ บริษัทยังมีสถานะเงินสดและเงินฝากอยู่ที่ระดับประมาณ 1,900 ล้านบาท สำหรับใช้ขยายพอร์ตเช่าซื้อและสินเชื่อในประเทศในทันที โดยสามารถใช้เงินดังกล่าวขยายพอร์ตได้อย่างน้อย 12-18 เดือนโดยไม่ต้องใช้เงินกู้ เป็นการล็อกต้นทุนทางการเงินเพื่อผลประกอบการที่ดีในระยะกลางและระยะยาว" นายประพล กล่าว

ณ ไตรมาส 2/66 TK มีสำรองลูกหนี้จำนวน 336.4 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 6.8% และมี Coverage Ratio ที่ 109.9% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 65 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 344.4 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7.0% และมี Coverage Ratio ที่ 109.9% ณ ไตรมาส 2/66 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 6,556.9 ล้านบาท ลดลง 0.02% จาก 6,558.3 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 949.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% จาก 800.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ สิ้นปี 65 ทั้งนี้ D/E ณ ไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 0.17 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 65 ที่ 0.14 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ