บมจ.โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป (PROLAB) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 48,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 17.91% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
PROLAB ก่อตั้งโดยทีมงานบุคลากรที่มีประสบการณ์การทำงานกว่า 20 ปี ในศูนย์ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การประกอบธุรกิจหลักในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1) การบริการตรวจวิเคราะห์เลือดและชิ้นเนื้อทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด และชิ้นเนื้อ ให้แก่ โรงพยาบาล คลินิก หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน และบุคคลทั่วไป ผ่านห้องปฏิบัติการกลาง และห้องปฏิบัติการภายในโรงพยาบาล โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของห้องปฏิบัติการกลางจะเป็นลูกค้าประเภทโรงพยาบาลและคลินิก
สำหรับกลุ่มลูกค้าของห้องปฏิบัติการภายในโรงพยาบาล จะมาจากคนไข้ของโรงพยาบาลที่บริษัทได้ดำเนินการเข้าไปติดตั้งห้องปฏิบัติการ โดยจะเน้นการเป็นห้องปฏิบัติการพื้นฐาน เช่น การตรวจเลือดและปัสสาวะ ส่วนการตรวจชิ้นเนื้อหรือการตรวจสิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้เครื่องมือขั้นสูงกว่า ทางห้องปฏิบัติการภายในโรงพยาบาลจะพิจารณาส่งสิ่งส่งตรวจให้ห้องปฏิบัติการภายนอก (Out Lab) เช่น ห้องปฏิบัติการกลางของบริษัท หรือบริษัทอื่นๆ ดำเนินการ
2) การบริการตรวจวิเคราะห์สุขภาพ (Check-Up) ให้กับโรงพยาบาล หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชน โดยจะจัดบุคลากรและรถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ออกให้บริการทั่วประเทศไทย โดย PROLAB จะตรวจสุขภาพให้กับลูกค้า ตามโปรแกรมที่ลูกค้าเลือก เช่น เจาะเลือด เอ็กซเรย์ปอด เก็บสิ่งส่งตรวจ(ปัสสาวะ) ตรวจทางอาชีวอนามัยและตรวจเบื้องต้นอื่นๆ (ตา หู การเต้นของหัวใจ) เป็นต้น จนถึงการตรวจที่ละเอียดขึ้น เช่น การเอ็กซเรย์ช่องท้อง และการตรวจมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น โดยอาจไปตั้งห้องตรวจที่สถานที่ที่เข้าตรวจ
3) การบริการตรวจวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงการแพร่ระบาดส่งผลให้บริษัทซึ่งเดิมดำเนินธุรกิจการตรวจวิเคราะห์ระดับอณูชีววิทยา (Molecular Laboratory) อยู่แล้ว มีการขยายธุรกิจมาทำการตรวจวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งการตรวจโดยใช้ Antigen Test Kit (ATK) และการตรวจแบบ Real-Time PCR
4) การจำหน่ายเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ช่วงปลายปี 64 เล็งเห็นโอกาสในการขยับขยายธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มเติม จึงได้เปิดบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ซานัส เทคโนโลยี จำกัด (Sanus) เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยที่ผ่านมา Sanus ประกอบธุรกิจการจำหน่ายอุปกรณ์ Antigen Test Kit (ATK) ในการตรวจวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อพัฒนาการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ , โครงการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทร่วม และโครงการลงทุนเพื่อขยายช่องทางการให้บริการตรวจวิเคราะห์
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 31 มี.ค.66 มี Sanctuary Health Tech fund by Sanctuary fund VCC (ซึ่งลงทุนโดยนายสมชาติ กลัดเพชร์) ถือหุ้น 70,000,000 หุ้น คิดเป็น 31.82% ภายหลัง IPO จะลดสัดส่วนลงเหลือ 26.12% กลุ่มนางนิตยา โฉมงาม ถือหุ้น 52,087,720 หุ้น คิดเป็น 23.68% จะลดเหลือ 19.44% กลุ่มนายวิฑูรย์ อารยะพิพัฒน์กุล 46,723,080 หุ้น คิดเป็น 21.24% จะลดเหลือ 17.43% และ บมจ.วินเนอร์ยี่ เมดิคอล 16,312,140 หุ้น คิดเป็น 7.41% จะลดเหลือ 6.09%
ผลประกอบการในช่วงปี 63-65 และงวด 3 เดือนปี 66 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 414.56 ล้านบาท 795.89 ล้านบาท 512.35 ล้านบาท และ 93.32 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 63.50 ล้านบาท 189.65 ล้านบาท 74.22 ล้านบาท และ 9.24 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 13.99%, 23.44%, 14.11% และ 9.86%
ณ วันที่ 31 มี.ค.66 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 407.12 ล้านบาท หนี้สินรวม 95.34 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 311.78 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท