สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บาทความเรื่อง "ความเสี่ยงในโลกการลงทุน กับ บทบาทของ ก.ล.ต." โดยระบุว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในการลงทุนคือ "ความเสี่ยง" ดังนั้นการรู้จักและเข้าใจความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจลงทุนได้สอดคล้องกับแผนการลงทุนที่วางเอาไว้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในโลกการลงทุนมีความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ เช่น
1. ความเสี่ยงของหลักทรัพย์/ตราสารที่ลงทุน แผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดทุนมีความหลากหลาย มีลักษณะ อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง และระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวม ไปจนถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ตัวอย่างระดับความเสี่ยงอาจดูได้จากกองทุนรวมที่มีการจัดลำดับความเสี่ยงไว้เป็นตัวเลข 1-8 โดยกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ เช่น เงินฝาก ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี มีความเสี่ยงระดับ 1 ถือเป็นความเสี่ยงที่ต่ำ ขณะที่ความเสี่ยงระดับ 8 เป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ น้ำมัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังมากกว่า ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลและวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
สิ่งสำคัญสำหรับผู้ลงทุนคือ การมีข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการตัดสินใจลงทุน บริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์จึงต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสียก่อน และให้เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนสามารถติดตามการดำเนินการได้
การเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนและแบบแสดงรายการข้อมูลจะต้องยึดหลักที่ว่า ผู้ลงทุนควรมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน โดยเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องเชื่อถือได้เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ
บทบาทการกำกับดูแลตลาดทุนไทยของ ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี รักษาสิทธิของผู้ลงทุนและให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม มีการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้ลงทุน และหากพบพฤติกรรมการลงทุนที่ผิดปกติ ก.ล.ต. จะทำการตรวจสอบตามขั้นตอนอย่างรอบคอบรัดกุม และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเมื่อพบการกระทำผิด
2. ความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะต้องได้รับใบอนุญาตและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ลงทุนจะได้รับบริการที่มีมาตรฐานและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น การมีเงินทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยง การทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้มีความพร้อมด้านระบบงานและสามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนเป็นไปตามมาตรฐานด้วยความรับผิดชอบ
3. ความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวง การหลอกลวงให้ลงทุนในตลาดทุนเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชักชวนให้ไปร่วมลงทุนในธุรกิจ หรือให้ซื้อขายสินทรัพย์โดยให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง มีการรับประกันว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี มีการเร่งรัดให้รีบตัดสินใจลงทุน มีการอ้างถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมลงทุนด้วย มีรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่ชัดเจน ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ เน้นการหาสมาชิกมากกว่าขายสินค้าหรือบริการและให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคล ฯลฯ
เพื่อรับมือความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวง ก.ล.ต. ได้รวบรวมเรื่องราวกลโกงในตลาดทุนไว้ที่ "SCAM CENTER" รู้ทันภัยกลโกงลงทุน ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) หากได้รับการชักชวนลงทุนจากบุคคล หรือ ผู้ประกอบธุรกิจ ที่ไม่แน่ใจว่าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่ เช่น อ้างว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ มีข้อความ/โฆษณาที่ใช้ภาษาไทย และมีเว็บไซต์ให้บริการเป็นภาษาไทย สามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคล นิติบุคคลและผลิตภัณฑ์การลงทุน ว่าได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้วหรือไม่ ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First เช็กให้ชัวร์ก่อนการลงทุน ทางโทรศัพท์มือถือ หรือในเว็บไซต์ ก.ล.ต. รวมถึงสามารถตรวจรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังได้ที่ Investor Alert และหากพบเบาะแสความไม่ชอบมาพากลในตลาดทุน สามารถแจ้งเบาะแส หรือเรื่องร้องเรียนได้หลากหลายช่องทาง เช่น SEC Help Center โทร 1207 เฟซบุ๊ก "สำนักงาน กลต." SEC Live Chat ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. และอีเมล Info@sec.or.th
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้และการใช้บริการนั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจำเป็นที่ต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ก.ล.ต. ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดโอกาสและผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ และสร้างยังความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการในภาคตลาดทุนอีกด้วย
4. เกราะป้องกันความเสี่ยง ความรู้ด้านการเงินการลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น มีแหล่งข้อมูลซึ่งพัฒนา โดย ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเรียนรู้พัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงินและการลงทุน สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมทำให้เงินออมงอกเงยด้วยการลงทุน และมีภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันกลโกงกลุ่มมิจฉาชีพ
ผู้สนใจสามารถศึกษาเรียนรู้ข้อมูลการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านสื่อของ ก.ล.ต. ได้ทุกช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และ ติ๊กต็อก (ThaiSEC_Official) หรือจะเข้าไปศึกษาจากเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งความรู้โดยเฉพาะ เช่น เว็บไซต์ Smarttoinvest.com เฟซบุ๊ก start-to-invest เว็บไซต์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทย (www.ThaiPVD.com) เว็บไซต์ รู้เรื่องเงิน.com และ หลักสูตร e-learning "ก.ล.ต. Crypto Academy" เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงในโลกการลงทุนเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนสามารถเรียนรู้และประเมินระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ รวมทั้ง การกำกับดูแลจาก ก.ล.ต. ผ่านเครื่องมือที่มีอยู่ทั้งการออกกฎเกณฑ์ การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอและเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ลงทุนรู้จักและรับมือกับความเสี่ยงในโลกการลงทุน ใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสม และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้