THAI คาดกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้น ปลายปี 67 หลังเชื่อออกจากแผนฟื้นฟู Q3/67 เร็วกว่าแผน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 11, 2023 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

THAI คาดกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้น ปลายปี 67 หลังเชื่อออกจากแผนฟื้นฟู Q3/67 เร็วกว่าแผน

บมจ.การบินไทย (THAI) คาดว่ามีโอกาสออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเร็วกว่าแผนราว 1 ไตรมาส เป็นไตรมาส 3/67 จากเดิมไตรมาส 4/67 และคาดกลับเข้าไปเทรดในตลาดหุ้นได้ในปลายปี 67 จากเดิมวางเป้าไว้ ก.พ.68 หลังทำกำไรติดต่อกัน 4 ไตรมาสแล้ว และแม้ในไตรมาส 2 อยู่ในช่วง Low Season แต่มีกำไรสุทธิ 2.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไตรมาส 2 ที่ดีที่สุดในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/66 มีกำไรจากการดำเนินงาน 8,576 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนจากการดำเนินการ 1,299 ล้านบาท EBITDA 9,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 351% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มี 2,062 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,262 ล้านบาท จากขาดทุน 3,221 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

THAI คาดกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้น ปลายปี 67 หลังเชื่อออกจากแผนฟื้นฟู Q3/67 เร็วกว่าแผน

โดยผู้บริหารคาดว่ารายได้ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้รวม 78,889 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้น่าจะมีรายได้ตามเป้าที่ 1.6 แสนล้านบาท และจำนวนผู้โดยสาร 9 ล้านคน จากครึ่งปีแรกที่มีจำนวน 6.87 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ณ สิ้นงวด มิ.ย.66 บริษัทมีกระแสเงินสด 51,153 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเท่าที่ดำเนินกิจการ ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำส่วนหนี้เริ่มทยอยใช้หนี้ตามแผน 1.3 แสนล้านบาท เริ่มจ่ายหนี้ ปี 67 โดยใน 3 ปีแรกจะจ่ายปีละ 1 หมื่นล้านบาท จนถึงปี 74 พร้อมเดินหน้าดำเนินการตามแผนฟื้นฟูในการเพิ่มฐานทุนให้แข็งแกร่ง จากการแปลงหนี้เป็นทุนที่มีการเพิ่มทุนรอบแรก และการเพิ่มทุนรอบสองที่คาดว่าจะระดมเงินไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

THAI คาดกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้น ปลายปี 67 หลังเชื่อออกจากแผนฟื้นฟู Q3/67 เร็วกว่าแผน

บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีมูลค่าลงทุน 7-8 พันล้านบาท โดยเตรียม Business Model คาดใช้เวลา 3-4 เดือน และอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรหลายรายในการร่วมลงทุน

*ผลงานดีต่อเนื่อง 4 ไตรมาสหนุนออกจากแผนเร็วกว่าแผน

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า ในไตรมาส 2/66 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินการปรับตัวสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสามารถปรับตัว และ EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินในช่วง 6 เดือนปี 66 เติบโต 3,315% มาเป็น 23,361 ล้านบาท ก็เติบโตได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

"ผลการดำเนินงานมีผลในแง่ดีต่อแผนฟื้นฟู ... จากผลการดำเนินงานที่ออกมา ก็จะ Revise Financial Projection เพื่อให้ประโยชน์กับบริษัท ควบคู่ไปกับการออกจากแผนฟื้นฟูในปี 67 จะออกเร็วได้เมื่อไหร่อยู่ที่ผลประกอบการ เกณฑ์กำไร 4 ไตรมาสเรามีแล้ว เราแข่งขันดีขึ้น ซึ่งขึ้นกับดีมานด์ซัพพลายด้วย ในมิ.ย.นี้ เราสะสมกำไรได้ 4 ไตรมาสเป็น Buffer แล่ว ถ้าดีกว่านี้ ก็ออกจากแผนเร็วขึ้นจากเดิม 1 ไตรมาส จากที่วางแผนออกไตรมาส 4/67 ... เราออกจากแผนได้ชัดเจนก็จะยื่นไฟลิ่งกับ ก.ล.ต."นายชาย กล่าว

ในครึ่งหลังปี 66 บริษัทคาดว่ารายได้ดีกว่าครึ่งแรกปี 66 เนื่องจากการบินไทยมีเครื่องบินใหม่ A350-900 จำนวน 6 ลำ โดยรับมอบแล้ว 2 ลำในเดือน ก.ค. และทยอยรับมอบ โดยปัจจุบัน บริษัทและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดย 6 เดือนแรกปี 66 มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเครื่องบิน A350-900 อีกจำนวน 5 ลำ จะรับมอบในไตรมาส 1/67 นอกจากนี้ การบินไทยจะรับมอบเครื่องบินAirbus A321 Neo จำนวน 12 ลำ ในปี 69

นายชาย ยังกล่าวว่า ในส่วนผู้ถือหุ้น ณ สิ้นมิ.ย. 66 ยังติดลบ 56,253 ล้านบาท จากสิ้นธ.ค.65 ที่มีจำนวน 71,024 ล้านบาท หรือลดลง 14,771 ล้านบาท บริษัทก็เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกตามเงื่อนไข โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน และเจ้าหนี้สถาบันการเงินรวมเจ้าหนี้หุ้นกู้ ในราคาขายหุ้นละ 2.54 บาท อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะถือหุ้นสัดส่วน 40% เพื่อให้การบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก

นอกจากนี้บริษัทจะเพิ่มทุนใหม่ โดยคาดว่าจะระดมทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เสนอขายไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 2.54 บาท เพื่อให้มีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งก็ต้องขึ้นกับผลการดำเนินการที่จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมได้ และผลการดำเนินการดีจะช่วยทำให้มูลค่ากิจการของบริษัทสูงขึ้น

ขณะเดียวกันบริษัทจะเริ่มจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟู จำนวน 1.3 แสนล้านบาท ที่เป็นหนี้จากสถาบันการเงิน และหนี้หุ้นกู้ ตั้งแต่ปี 67 จนถึงปี 74 โดยใน 3 ปีแรก (ปี 67-69) จะจ่ายหนี้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท และหลังจากนั้นก็จะทยอยชำระไปถึงปี 70 หนี้สถาบันกาเรงินก็จะหมด ส่วนหนี้หุ้นกู้ 7.2 หมื่นล้านบาท จะเริ่มจ่ายดอกเบี้ยในปี 67 และหลังจากนั้นในปี 70-71 ก็จะจ่ายคืนเงินต้นตามมา ก็จะครบในปี 74

*ลุย MRO ใน EEC เจรจาพันธมิตร

นายชาย กล่าวว่า การบินไทยจะเดินหน้าดำเนินธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) บนพื้นที่ EEC หรือในสนามบินอู่ตะเภาที่ได้รับสิทธิให้เข้าไปดำเนินกิจการได้ โดยธุรกิจ MRO ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ก็บรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูตั้งแต่ต้น แต่ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งถ้าการบินไทยไม่ได้ดำเนินการก็จะส่งผลเสียต่อเจ้าหนี้กับบริษัท เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจ MRO เป็นโอกาสใหม่ของการบินไทยที่จะทำให้ผลการดำเนินการเติบดต และสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ในปี 67

ทั้งนี้ บริษัทได้พูดคุยกับทางสำนักงานอีอีซีแล้วว่ายังคงสิทธิให้การบินไทยดำเนินโครงการ MRO ในสนามบินอู่ตะเภาต่อ โดยจะหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายราย โดยแอร์บัส ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรลงทุนโครงการนี้ บริษัทไม่ได้ปิดโอกาส ขณะเดียวกันทำแผน Business Model คาดว่าใช้เวลา 3-4 เดือน

"เรามีศักยภาพเต็มที่ที่ดอนเมือง ซึ่งธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่ดีซึ่งด้วย Capacity ที่เรามีจำกัดทำให้รับลูกค้าข้างนอกไม่ได้ ...ตอนนี้ได้มีการพูดคุยกับ EEC แล้ว หาพาร์ทเนอร์คนใหม่เพื่อลงทุนที่อู่ตะเภา เรายิ่งช้ายิ่งเสียโอกาส"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าว

*ปี 67 ลุยเพิ่มจุดบินยุโรป

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการบินพาณิชย์ (CCO) THAI กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 3 ยังอยู่ใน Low season นักท่องเที่ยวไทยเริ่มมีการเดินทางไปญี่ปุ่น เกาหลีมากขึ้น ซึ่งบริษัทกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย ขณะที่ยอดจองล่วงหน้าในปลายปีในตลาดออสเตรเลีย ยุโรปก็ยังดีอยู่

ขณะที่จากการปรับโครงสร้างที่รวมสายการบินไทยสมายล์ ทำให้การขายเชื่อมต่อเข้ามากับเส้นทางในประเทศ และกลุ่ม CLMV ทำให้มีเน็ตเวิร์ค รองรับการเติบโตได้ดี โดยจุดบินที่เมียนมา ลาว เขมร ทุกจุดบินเพิ่มเป็นวันละ 2 เที่ยวบิน ซึ่งในไตรมาส 4/66 จะเริ่มทำการบินภายในแบรนด์การบินไทย

ช่วงที่เหลือของปีจะเพิ่มจุดบินเมืองรองของอินเดีย เช่น ไฮเดอราบัด กัลกันตาร์ และเมืองรองของจีน ได้แก่ ยูนาน คุนหมิง ซึ่งทำให้เครื่องบิน A320 มีอัตราการใช้เครื่องบินได้มากกว่า 10 ชม./วัน นอกจากนี้เพิ่มความถี่เส้นทางบินในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน

ส่วนในปี 67 และกลางปี 67 มองว่าหากตลาดยุโรปมีการเติบโต ไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ก็คาดว่าจะเปิดบินใหม่ที่เมืองมิลาน และ ออสโล เมื่อเครื่องบินใหม่เข้ามา ส่วนจีนขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่จะเพิ่มจุดบิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ