นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) เปิดเผยว่า การดำเนินงานช่วงครึ่งหลังปี 66 บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจอนาคต (New S Curve) เครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า "GINKA Charge Point" รวมถึงตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ "เต่าบิน" ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยบริษัทมีการนำเสนอสินค้าและบริการผ่านการออกแสดงในงานต่างๆ ล่าสุดเตรียมนำ "GINKA Charge Point" และ "เต่าบิน" เข้าร่วมงาน IP FAIR 2023 จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในวันที่ 18-20 ส.ค.66 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานที่จะรู้จักสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น ก่อนที่ FSMART จะเริ่มติดตั้ง GINKA Charge Point ปลายเดือนส.ค.ในพื้นที่เป้าหมาย 2 แห่ง ก่อนจะขยายไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพ อาทิ คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และพื้นที่จอดรถอื่น ๆ ตามเป้าหมายการขยายเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA ให้ได้ 5,000 จุดใน 1 ปีนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ
เช่นเดียวกับตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ "เต่าบิน" บริหารจัดการโดยบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยการจัดรายการส่งเสริมการขายตามเทศกาลและการคิดค้นสูตรเครื่องดื่มใหม่ๆที่น่าสนใจ รวมถึงการพัฒนาให้ตู้มีศักยภาพการบริการมากขึ้น ตลอดจนการขยายจุดติดตั้งในพื้นที่ที่มีความต้องการ โดยปัจจุบันมีให้บริการอยู่ 6,142 ตู้ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.66) จากแผนที่วางไว้ปีนี้ที่ 8,500-10,000 ตู้ ทั้งหมดจะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มลูกค้าประจำและเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่เข้าถึงบริการ และมีโอกาสซื้อเครื่องดื่มจากตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ เต่าบิน มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 26.71% ของ FSMART ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาโปรเจกต์การผสมผสานระหว่างเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA และร้านคาเฟ่อัตโนมัติ เต่าบิน ในรูปแบบเคาน์เตอร์อัตโนมัติที่จะขายเครื่องดื่มชงสด และขายอาหารประเภทอื่นๆ ในรูปแบบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยการดำเนินงานนี้ถือเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือให้ครบวงจรแบบมีศักยภาพที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจหลักเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ ยังถือเป็นรายได้หลักที่บริษัทมุ่งเน้นรักษายอดเติมเงินและการเติบโตให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาให้มากที่สุด ด้วยบริการที่หลากหลายเพิ่มทางเลือกและปรับให้เข้าพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้ง 3 ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นตู้บุญเติม เคาน์เตอร์แคชเชียร์ และแอปพลิเคชันบนมือถือ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมทางการตลาดส่งเสริมยอดการใช้งานจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ส่วนกลุ่มธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจร เชื่อว่าปีนี้ยังมีการเติบโตได้ 5-10% ด้วยธุรกรรมการฝาก-โอนเงินกว่า 4.38 ล้านรายการต่อไตรมาส จากการตัวแทนธนาคารที่ครอบคุลม 8 ธนาคาร พร้อมผลักดันการถอนเงินด้วยบัตรผ่านตู้บุญเติมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับธุรกิจบริการสินเชื่อครบวงจรที่ยังมีการตอบรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระสินค้า (Buy now pay later: BNPL) ที่ดี โดยบริษัทจะเน้นการบริหารการเรียกเก็บหนี้และบริหารหนี้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ทางบริษัทเชื่อว่าจะส่งเสริมให้ปี 66 บริษัทสามารถเติบโตโดยรวมได้ 5-10%
บริษัทฯ ยังเตรียมจ่ายเงินปันระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท รวมเป็นเงิน 135.6 ล้านบาท ตามมติที่ประชุมคุณกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา จากผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 66 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 ถึง 30 มิ.ย.66 ที่มีรายได้รวม 1,020 ล้านบาท กำไร 152 ล้านบาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 24 ส.ค.66 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) วันที่ 25 ส.ค.66 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 6 ก.ย.66
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทยังได้มีมติลดทุนจดทะเบียน และทุนชำระแล้วจากเดิม 780,000,000 บาท เป็น 753,141,300 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือ 3.44% ของทุนชำระแล้วก่อนลดทุน ซึ่งทางบริษัทจะดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์และแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป