นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อระดมทุนในตลาดหุ้นยังถือว่ามีความจำเป็นอยู่ แต่ต้องมีการแยกแยะสินทรัพย์ให้ชัดเจนก่อน ขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ต้องมีความพร้อมที่จะแข่งขันกับภาคเอกชนได้
"ข้อดีที่เห็นประโยชน์ได้ชัดเจนของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะทำให้มีการระดมทุนเข้ามาใช้ในการขยายงาน และรู้มูลค่าของรัฐวิสาหกิจที่แท้จริง" นางภัทรียา กล่าว
รัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่งมีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้น 6 ล้านล้านบาท แต่มีหนี้สินมากถึง 5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) อยู่ที่ 3.08 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่มีนัยสำคัญ ดังนั้นตลาดทุนจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดภาระหนี้ของรัฐวิสาหกิจได้
นางภัทรียา กล่าวว่า อย่างกรณีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไม่จำเป็นต้องแปรรูปทั้งองค์กร แต่สามารถแยกย่อยเป็นหน่วยธุรกิจแล้วค่อยทยอยเข้าแปรรูปก็ได้ หรือเหมือนการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) ที่ใช้วิธีการแปรรูปด้วยการให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนก็ได้ เช่น บมจ.น้ำประปาไทย(TTW), บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก(EASTW)
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งว่าเป็นกิจการเพื่อการพาณิชย์ หรือเป็นกิจการเพื่อสังคม ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาถูกต่อต้านจากสังคม พร้อมทั้งมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางเฉพาะขึ้นมากำกับดูแลการประกอบธุรกิจ(Regulater) เช่นเดียวกับการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ที่ต้องอาศัยการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เพราะต้องใช้งบลงทุนเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปแล้ว 7 แห่ง และบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจอีก 15 แห่ง มีมูลค่าตลาด(market cap) 40% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด สำหรับในปีนี้คาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจและบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจเข้าแปรรูป 2-3 แห่งที่กระจายหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ บมจ.เอสโซ่, บมจ.น้ำประปาไทย(TTW) และโรงกลั่นสตาร์รีไฟน์เนอริ่ง
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--