รศ.สมชาย สุภัทรกุล คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตกแต่งบัญชีของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วน โดยเฉพาะผู้ลงทุนในหุ้นกู้และหุ้นของ STARK อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยรวมในตลาดทุน
อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนไทยยังคงต้องเดินหน้าต่อไป แต่จะมีแนวทางอย่างไรที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้ โดยแนวทางที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ฟื้นกลับมามองว่าคือผู้สอบบัญชี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยคัดกรองข้อมูลด้านงบการเงินของบริษัทต่างๆ จะต้องมีการมาพูดคุยกันในเรื่องการปฏิบัติงานที่ต้องเข้มข้นมากขึ้น เป็นการยกระดับการปฏิบัติงานจากการถอดบทเรียนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาหาแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต มากกว่าการที่มาดูตามมาตรฐานบัญชีเท่านั้น เพราะมาตรฐานบัญชีที่ประเทศไทยใช้อยู่ก็เป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว
"เรื่องของ STARK ทำให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีนั้นต้องมีการมาพูดคุยในการทำงานที่เข้มข้นขึ้นมากกว่าการดูที่มาตรฐานบัญชีเท่านั้น เพราะเราก็มีอัพเดทมาตรฐานบัญชีตามต่างประเทศตลอด แต่อยากให้มีการมาพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของผู้สอบบัญชีที่ต้องมีความเข้มงวดและระมัดระวังมากขึ้น ถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแก้ไขและหาแนวทางมาร่วมในการป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดในอนาคต" รศ.สมชาย กล่าว
ขณะเดียวกันในส่วนของหน่วยงานกำกับทั้งสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงหน่วยงานที่มีการนำข้อมูลของบริษัทมาจัดทำอันดับเครดิตเรตติ้ง จะต้องมีการทำงานในเชิงรุกมากขึ้นในการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทต่างๆ และมีการทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีในการร่วมตรวจสอบ และกลั่นกรองข้อมูลก่อนที่จะมีการนำเสนอออกมา อย่างในต่างประเทศมีโมเดลที่เรียกว่า Earning Memorandum ซึ่งหน่วยงานกำกับมีการร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีในการตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอออกมาให้กับผู้ลงทุนรับทราบ เพื่อเป็นการป้องกันความผิดพลาดของข้อมูลที่เกิดขึ้น และลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน และช่วยลดความเสียหายได้
"อยากให้หน่วยงานกำกับ และหน่วยงานที่จัดอันดับเรตติ้ง ช่วยกันตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล ใส่ใจความถูกต้องข้อมูลก่อนออกมาให้นักลงทุนรับทราบ และนำข้อมูลไปใช้ ซึ่งจะต้องทำงานกันในเชิงรุก และร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชี หากพบความผิดปกติก็สามารถสอบถามผู้ตรวจสอบบัญชี และขอคำชี้แจงจากบริษัทนั้นๆก่อนที่จะเผยแพร่ขอ้มูลออกมา โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับงบการเงิน เพื่อทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องตามจริง ช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหายให้ลดลง" รศ.ดร.สมชาย กล่าว
นายพีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงิน CFP กล่าวว่า หน่วยงานกำกับต้องมีการพัฒนาและทำงานในเชิงรุกมากขึ้น หลังจากกรณีของ STARK ส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต.จะต้องมีการพัฒนาแนวทางในการตรวจสอบและการป้องกันเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการนำงานวิจัยที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนากฏเกณฑ์ต่างๆให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
อย่างไรก็ตามการปรับปรุงกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นยอมรับว่าบริษัทจดทะเบียนได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนที่อาจเพิ่มขึ้นได้ แต่ต้องยอมรับว่าทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันเพื่อยกระดับตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ไทยให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีธรรมภิบาล โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนกลับมา
สำหรับในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีของ STARK ยังคงมีความจำเป็นต้องรวมตัวกัน และตั้งตัวแทนเพื่อเรียกร้อง และสอบถามข้อมูลไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงานกับตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และบล.เอเซีย พลัส ในการติดตามข้อมูล และให้ข้อมูลกับผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึงการจัดการประชุมเพื่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของผู้ถือหุ้นกู้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบในกรณีนี้