PSP เคาะราคาขาย IPO ที่ 6.2 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 22-24 ส.ค.คาดเทรด SET 30 ส.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 21, 2023 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

PSP เคาะราคาขาย IPO ที่ 6.2 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 22-24 ส.ค.คาดเทรด SET 30 ส.ค.

บมจ.พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ (PSP) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 350,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 6.2 บาท ระยะเวลาจองซื้อระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.66 โดยมีบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บล.กสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม พร้อมแต่งตั้ง บล. กรุงศรี บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) บล.เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ และ บล.บียอนด์ เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO คาดว่าจะนำหลักทรัพย์ของ PSP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในวันที่ 30 ส.ค.นี้

PSP เคาะราคาขาย IPO ที่ 6.2 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 22-24 ส.ค.คาดเทรด SET 30 ส.ค.

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่เสนอขายในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท (P/E Ratio) โดยราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 6.2 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 24.1 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่) ในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65-30 มิ.ย.66 ซึ่งเท่ากับ 360.3 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 1,400 ล้านหุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 0.2574 บาท

PSP เคาะราคาขาย IPO ที่ 6.2 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 22-24 ส.ค.คาดเทรด SET 30 ส.ค.

ทั้งนี้ กลุ่มครอบครัวนายสมภพ ติงธนาธิกุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก่อน IPO มีการถือหุ้น รวมถึงเป็นกรรมการ และมีส่วนร่วมในการบริหาร ในบริษัทอื่นนอกกลุ่มบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัทให้แก่กลุ่มผู้ซื้อที่เป็นบุคคลภายนอกจำนวนทั้งหมด 102,900,000 หุ้น หรือคิดเป็น 7.35% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และเป็นการซื้อขายจริง (True sale) ในราคาเดียวกับ IPO ซึ่งเป็นผลให้ครอบครัวนายสมภพ ติงธนาธิกุล มีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงจาก 241,500,000 หุ้น เป็นจำนวน 138,600,000 หุ้น หรือคิดเป็น 9.9% ของจำนวนหุ้นหลัง IPO ณ วันที่หุ้นของบริษัทเข้าทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก (First Trading Day)

วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน 2,101.4 ล้านบาท จะใช้เพื่อ 1.ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ได้แก่ วงเงินกู้ยืมสำหรับสำหรับการเข้าซื้อ U.C. Marketing 1,174.6 ล้านบาท วงเงินกู้ยืมระยะสั้น 425.4 ล้านบาท 2. ลงทุนในโรงงานของบริษัทเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต 140 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโรงผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น (Lubricant) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ 361.4 ล้านบาท

นายสินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSP เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 30 ปี ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจร (Total Solution Provider) ในภูมิภาคอาเซียนและเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หล่อลื่นอิสระรายใหญ่ของประเทศไทย ที่มีการผลิตน้ำมันหล่อลื่น (Lubricant) น้ำมันผสมยาง (Rubber Process Oil) และน้ำมันหม้อแปลง (Transformer Oil) รวมสูงที่สุด รวมทั้งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในหลายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการให้บริการที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ของอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์หล่อลื่น และนำองค์ความรู้การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีห้องปฎิบัติการที่ทันสมัย เพื่อนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ภายใต้แบรนด์ลูกค้า รองรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

บริษัทฯ พร้อมนำข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สอดรับกับเทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำมันเกียร์และจาระบีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผลิตภัณฑ์หล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่รถไฟฟ้า (EV Cooling) ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น (Lubricant) หรือจาระบี (Grease) สำหรับแบตเตอรี่ และน้ำมันหม้อแปลงชีวภาพ (Bio Transformer Oil) การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น รวมถึงขยายตลาดไปยังต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายต่างประเทศเป็น 25% ของรายได้จากการขายรวม ภายในปี 2569 จากปัจจุบัน ปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 17% โดยหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆ

นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า PSP ถือเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งจากข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์หล่อลื่นอิสระรายใหญ่ของไทยที่มีการผลิต และการให้บริการที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันหล่อลื่น และมีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรและมีการเติบโตสูง ประกอบกับการใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งโรงงานและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ PSP ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ PSP จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตจากแผนนำเงินไปลงทุนในโรงงานของบริษัทฯ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านต้นทุนและขีดความสามารถการแข่งขัน ชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจากการเข้าลงทุนซื้อ U.C. Marketing ที่เสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ