บมจ. พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ (PSP) วางกลยุทธ์ชูความเป็นผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจร ขยายการลงทุนรองรับดีมานด์ตามการเติบโตของอุตสาหกรรม เน้นสินค้ามาร์จิ้นสูง พร้อมพัฒนาสินค้าสอดรับเทรนโลก และลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังรุกขยายตลาดรีเทลมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มองหา New S-curve เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
PSP เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 350 ล้านหุ้น เคาะราคาหุ้นละ 6.20 บาท เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คาดเทรดวันแรก 30 สิงหาคม 2566
บริษัทประกอบธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตผลิตภัณฑ์ การบรรจุผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บและศูนย์กระจายสินค้า การให้บริการจัดการด้านโลจิสติกส์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSP เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า วัตถุประสงค์การใช้เงินระดมทุน มีทั้งหมด 3 เรื่อง คือ 1) ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 2) ลงทุนปรับปรุง Facility ในโรงงานของบริษัท ทำ Digital Transformations พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ให้ควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น และ 3) เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ส่วนแผนธุรกิจในระยะยาว ได้วางกลยุทธ์ไว้ทั้งหมด 3 ข้อ ซึ่งในข้อแรก จะเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจร เริ่มจากการปรับ Portfolio ของสินค้า เน้นไปที่สินค้า Margin สูงหรือมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างดี ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มน้ำมันหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ เมื่อมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ความต้องการในสินค้ากลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังมองเห็นโอกาสเติบโตในต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมียอดขายในต่างประเทศที่ 30 ล้านลิตร/ปี แต่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 3,000 ล้านลิตร/ปี จึงมีโอกาสโตอีกมาก โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปี สัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 25% จากเดิม 15%
สำหรับกลยุทธ์ข้อที่สอง จะเป็นการผลิตสินค้าใหม่ ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากใช้ Facility และทีม R&D ของเดิมที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การโฟกัสในสินค้าสำหรับกลุ่ม B2C มากขึ้น อย่าง น้ำมันหล่อลื่นอเนกประสงค์ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง, สินค้าที่เป็น Food Grade รองรับประเทศไทยที่เป็น Kitchen of the World หากกฎหมายต่าง ๆ มีความเข้มงวดมากขึ้น โรงงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารก็ต้องเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ในเครื่องจักรให้เป็น Food Grade และสินค้า Bio Products ที่พัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งทางมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน อย่างเช่น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม และ น้ำมันผสมยางชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม เป็นต้น
และกลยุทธ์ข้อที่สามคือการขยายธุรกิจผ่านการลงทุน ทั้งการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม, การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Logistics ขณะที่ธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องแต่มีการเติบโตสูงบริษัทก็ได้เข้าไปลงทุน เช่น บริษัทที่ทำเกี่ยวกับ Recycle Liquid Waste ตามเทรนด์รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
รวมถึงธุรกิจที่ร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์สิงคโปร์ใน บริษัท วอทส์เอ็ก (ประเทศไทย) ที่ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับการซื้อขายชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ชื่อ "EGGMall" รูปแบบคล้าย ๆ Lazada, Shopee แต่เป็นสินค้าสำหรับรถยนต์โดยเฉพาะ ปัจจุบันมีสินค้ากว่า 2 ล้าน SKU แล้ว
"PSP เราเป็นผู้ผลิตมาตลอด ซึ่งการไปลงทุนตรงนี้ เราก็จะเห็นข้อมูลที่เป็นรีเทลมากขึ้น ทำให้เรานำมาวิเคราะห์ตรงนี้ได้ว่าจริง ๆ แล้วตลาดที่เป็นปลายทางเขาชอบอะไร ส่วนธุรกิจ New S-curve อื่น ๆ เราก็ยังมีพูดคุยอยู่อีก 2-3 ราย" นายเสกสรร กล่าว
https://youtu.be/Kbq36s2lpZE