CBG ปรับขึ้น 3.27% หรือเพิ่มขึ้น 2.75 บาท มาที่ 86.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 460.18 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.15 น. จากราคาเปิด 86.25 บาท ราคาสูงสุด 89.50 บาท ราคาต่ำสุด 86.00 บาท
บล.กรุงศรี พัฒนสิน มีมุมมอง Positive ต่อ Analyst meeting ของ บมจ.คาราบาว กรุ๊ป (CBG) ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมายใหม่ 97.5 บาท อิง PER 37x ปรับประมาณการกำไรปี 66-67 ขึ้นเฉลี่ย 18%
บริษัทฯวางเป้ายอดขายปี 66 ที่ 2 หมื่นลบ.จากภาพเครื่องดื่มชูกำลังที่ฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศ โดยจุดที่น่าสนใจคือ 1) การบุกตลาดเบียร์ของกลุ่มบริษัทแม่ของ CBG ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 6 แสนลบ. (6-7 เท่าของตลาดชูกำลัง) จะเริ่มจำหน่ายใน ต.ค.-พ.ย. บริษัทฯจะมีรายได้จากการผลิต Packaging ครบวงจรและการจัดจำหน่าย มองเบื้องต้นรวมเป็นกำไรขั้นต่ำราว 2-4 บาทต่อยูนิต ซึ่งบริษัทฯวางเป้าขาย 30 ล้านยูนิตต่อเดือน ภายใต้ Market share 5-6% (คาดเป็นกำไรขั้นต้นราว 60-120 ลบ.ต่อเดือน)
2) กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังมีแนวโน้มพิจารณาเปิดตัวสินค้าราคา 12 บาท ในช่วงปีหน้า จะทำให้กลุ่มฯชูกำลังน่าสนใจอีกครั้ง หลังกลยุทธ์สวนทางมาตลอดที่ผ่านมา และ 3) เบื้องต้นมองกำไร 3Q23F บวก y-y, q-q ได้
อย่างไรก็ตาม เชิงกลยุทธ์ ระมัดระวังช่วงปลายเดือนส.ค. หุ้นจะออกจาก MSCI (มีผลราคาปิด 31 ส.ค.)
ด้าน บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผู้บริหาร CBG กล่าวว่าบริษัทจะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์และการจัดจำหน่ายเบียร์ ดังนั้น จึงปรับเพิ่มราคาเป้าหมายขึ้น 19.5% เป็น 98.30 บาท เพราะ 1) ใส่กำไรจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่ายเบียร์ ซึ่งจะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4/66 และจะทำให้กำไรจากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้น 6.6% ในปี 66 และ 16.8% ในปี 67
และ 2) ขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 67 ธุรกิจเบียร์จะทำกำไรให้บริษัท 136 ล้านบาทในไตรมาส 4/66 ผู้บริหารบอกว่า CBG จะเริ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่ายเบียร์คาราบาว (เป็นของนายเสถียร เสถียรธรรม ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CBG) ในไตรมาส 4/66 ช่วงแรกคาดปริมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน (คิดเป็นยอดขายประมาณ 830 ล้านบาทต่อเดือน) ซึ่งกระแสรายได้ของ CBG จะมาจากสองทาง ได้แก่ 1) ขวด/กระป๋อง ประมาณ 1-2 บาท/ชิ้น) และ 2) รายได้จากการจัดจำหน่าย คาดว่า CBG จะมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 10% ใช้สมมติฐานแบบอนุรักษ์นิยม โดยรวมเข้ามาในประมาณการเพียงครึ่งเดียว (15 ล้านชิ้นต่อเดือน)
ดังนั้น จึงปรับเพิ่มประมาณการรายได้ปี 66 ขึ้นอีก 7% และปี 2567 ขึ้นอีก 26.5% ในขณะที่ปรับเพิ่มประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักขึ้นอีก 6.6% ในปี 66 และ 16.8% ในปี 67
แนวโน้มดีขึ้นในงวดครึ่งหลังปี 66 เพราะต้นทุนลดลง ราคาอลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระป๋องเครื่องดื่ม (20% ของต้นทุนรวม) ลดลงมาอยู่ที่ USD2,175/ton จากระดับสูงสุดที่ USD2,650/ton เมื่อเดือน ม.ค.66 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลง และอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นในงวดครึ่งหลังปี 66
นอกจากนี้ ยอดขายที่เติบโตปานกลางในประเทศไทย และในต่างประเทศ (โดยเฉพาะกัมพูชา) qoq น่าจะทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานแก้ว และกระป๋องดีขึ้น รวมถึงช่วยให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนอัตรากำไรในงวดครึ่ง่หลังปี 66
ประเมินราคาเป้าหมาย DCF ที่ 98.30 บาท ความเสี่ยงหลักอยู่ที่ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยวิธี DCF ใช้ WACC ที่ 6.03% และ terminal growth ที่ 2% ทั้งนี้ ราคาหุ้นในปัจจุบันคิดเป็น P/E ปี 67 ที่ 24x ซึ่งมีdiscount จากค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 40x เรามองว่าความเสี่ยงหลักอยู่ที่ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ซึ่งจะกดดันอัตรากำไรขั้นต้นแลกำไรจากธุรกิจหลัก