นายองอาจ ดำรงสกุลวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ไฮด์ (IHL) กล่าวว่า บริษัทมั่นใจยอดขายในปี 66 สามารถโต 5-10% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากแนวโน้มของยอดออเดอร์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 ที่เข้ามามากขึ้น จากธุรกิจฟอกรองเท้า และธุรกิตผลิตเบาะหนังรถยนต์ที่เติบโตดี โดยปัจจุบันธุรกิจเบาะหนังรถยนต์มีสัดส่วนรายได้ 45-50% ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลังของบริษัทยังมีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากค่ายรถยนต์พันธมิตรรายใหญ่
โดยที่แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66 คาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจน และยังเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ โดยการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจใหม่เพิ่ม รวมทั้งแผนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานเพิ่มเติม ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทได้วางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังเพิ่มเติมจากการเน้นเพิ่มยอดขาย รวมถึงการขยายธุรกิจอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ทั้งธุรกิจขนมขบเคี้ยวสุนัข MOMO & FRIENDS ธุรกิจฟอกหนังรองเท้า ธุรกิจผลิตหนังเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการลดต้นทุนต่างๆ เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะการเดินหน้าติดตั้งโซลาร์รูฟท้อปบนหลังคาโรงงาน โดยใช้งบลงทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท้อป 40 ล้านบาท ส่วนในปี 66 ยังมีงบลงทุนในการซื้อและปรับปรุงเครื่องจักร 130 ล้านบาท
นายวศิน ดำรงสกุลวงษ์ กรรมการ และผู้จัดการทั่วไป IHL กล่าวว่า ล่าสุดบริษัท อินเตอร์กรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เริ่มส่งออกโปรตีนชนิดผง ไปยังจีน 20 ตัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะทยอยจัดส่งให้ครบตามสัญญา ส่วนธุรกิจขนมขบเคี้ยว ภายใต้แบรนด์ MOMO&FRIEND มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการร่วมออกบูทต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายในท็อปส์ มาร์เก็ต และช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาทำสัญญาธุรกิจเพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้ามาวางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจน 1-2 แห่งภายในปีนี้ รวมถึงยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการรับจ้างผลิต (OEM) ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มเติมจากที่ส่งออกไปยังเกาหลี และมีการส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบหนังวัวไปยังเวียดนาม และกัมพูชา
อย่างไรก็ตามหลังจากการที่มีความชัดเจนในการโหวตนายกรัฐมนตรีผ่านแล้วนั้น บริษัทยังติดตามในเรื่องของนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท ภายในปี 70 ของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทค่อนข้างกังวล โดยปัจจุบันต้นทุนค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นหากปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูง หรือเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทได้ แต่คงต้องรอติดตามการแถลงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร "การปรับขึ้นค่าแรง เป็นสิ่งที่เรากังวลค่อนข้างมาก เพราะหากขึ้นเร็วจะกระทบกับต้นทุน และทำให้ผู้ประกอบการต่างๆปรับตัวไม่ทัน ถ้าปรับขึ้นเร็ว อาจทำให้มีบริษัทหลายแห่งต้องปิดตัวลง หรือเกิดการย้ายฐานการผลิตได้"นายวศิน กล่าว