นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่า การชะลอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินตามี่คณะรัฐมนตรีมีมติในวันนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้โดยสารได้ประมาณเดือนละ 6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6 เดือนรวม 36 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)จะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ในช่วงดังกล่าว แต่เอกชนก็ไม่ได้ขอเงื่อนไขการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ
อนึ่ง ที่ประชุม ครม.วันนี้เห็นชอบให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอัตรา 16-41 บาท จาก 15-39 บาท ไปเป็นวันที่ 1 ม.ค.52 จากเดิมที่กำหนดให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค.นี้ หรือชะลอออกไป 6 เดือน
นายประภัสร์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวถือว่าคู่สัญญาสัปทานทั้ง 2 ฝ่าย คือ รฟม. และ BMCL ไม่ได้กระทำผิดตามสัญญาสัมปทาน กล่าวคือมีการปรับค่าโดยสารจริงแต่มีการชะลอระยะเวลาในการจัดเก็บ ซึ่ง BMCL ยินดีที่จะชะลอจัดเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ โดยถือว่าเป็นช่วงโปรโมชั่นให้กับผู้โดยสาร
แต่การชะลอปรับค่าโดยสารก็จะช่วยให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินไม่มากนัก โดยเฉลี่ยปริมาณผู้โดยสารจะทรงตัวอยู่ที่วันละ 2 แสนเที่ยว เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตหากรัฐบาลขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
ด้านแหล่งข่าวจาก รฟม. กล่าวว่า รฟม.มีแนวคิดที่จะเจรจากับ BMCL เพื่อให้เป็นผู้บริการเดินรถในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ไม่ต้องเปลี่ยนรถไฟฟ้าหลายครั้ง แต่จะต้องเจรจาเกี่ยวกับผลประโยชน์ว่าเหมาะสมหรือไม่ หากไม่สามารถตกลงกันได้ BMCL ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมเข่งขันประกวดราคาเพื่อเป็นผู้บริการเดินรถในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ เพราะถือว่า BMCL ได้เปรียบกับผู้แข่งขันรายอื่น
“การให้เอกชนรายเดียวให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะเกิดความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้มากกว่า 1 พันล้านบาท เพราะไม่ต้องก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงหลายแห่ง ส่งผลให้ต้นทุนโครงการต่ำลง และจะได้กำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำลงมากขึ้นด้วย" แหล่งข่าว กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--