นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณะบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการสัมมนา"เศรษฐกิจไทยจะก้าวต่อไปอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย"โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 51 จะขยายตัวมากกว่าปีก่อน หลังจากที่ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และคาดว่าจะเติบโตได้ 4-5% แต่ปัจจัยทางการเมืองยังเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่
ตัวเลขไตรมาสแรกที่การบริโภคและการลงทุนขยายตัวขึ้น แต่ไตรมาส 2/51 จะไม่ดี หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้และจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อไปอีกนาน ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่ม และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 จะสูงกว่า 6%
ส่วนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นภาระที่จะต้องผ่านไปให้ได้ เพราะเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งรัฐควรมีมาตรการทางการคลัง เพื่อช่วยเหลือในการลดภาระดังกล่าว ด้วยการลดภาษี เร่งการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องหามาตรการระยะยาว เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นความเป็นธรรมในการกระจายรายได้มากกว่าที่จะเป็นการแทรกแซงราคาระยะสั้นและสิ่งสำคัญคือ ควรเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือประมาณ 5-10% เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีอำนาจซื้อมากขึ้น ขณะที่ประชนชนระดับกลางและสูง ควรปรับตัวในการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพในการผลิต
สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 29-30 เม.ย. นี้ นายอนุสรณ์ คาดว่าน่าจะลดดอกเบี้ยลงได้อีก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่จบ โดยเฉพาะปัญหาซับไพร์ม ซึ่งถือว่าซับซ้อนและคาดว่า รัฐยังต้องอัดฉีดเงินเพิ่มอีก
คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ควรจะปรับลดอกเบี้ยลง คาดว่าทั้งปีน่าจะลงได้อีก 0.75% จากที่ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.25% เพื่อช่วยลดต้นทุนจของผู้ประกอบการ โดยไม่ต้องกลัวว่า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะนี้เกิดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากอุปสงค์ แต่เกิดจากอุปทาน ดังนั้นการลดดอกเบี้ยก็ไม่น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ดี นายอนุสรณ์ เชื่อว่า ในอีก 3-4 ปีมีโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยมีปัจจัยหลักมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจลดลง ทำให้ปัญหาจะค่อยสะสมจนยากจะเยียวยา ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ค่อยๆ ซึม ไม่ได้ปะทุขึ้นเหมือนปี 2540 แนวทางในการแก้ไขคือ การปฏิรูปทางการเมืองควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 1/51 เติบโตได้ดีกว่าไตรมาส 4/50 จากการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การส่งออกไม่ได้ชะลอตัวไปอย่างที่คาด โดยยังขยายตัวได้ 13.5% จากปีก่อนที่ขยายตัว 18%
และคาดว่าทั้งปี เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ 6% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น จากผลพวงของราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทำให้อำนาจซื้อเพิ่มขึ้นด้วย โดยจะเห็นว่าในไตรมาสแรก ยอดขายจักรยานต์เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก จากที่ติดลบมาตลอด
แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอยไทยควรกระจายในการตลาดส่งออกใหม่ เพื่อทดแทนกับตลาดสหรัฐที่ชะลอลง และฉุดให้ตลาดในยุโรปและญี่ปุ่นชะลอตามด้วย ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี โดยจะเห็นว่าการส่งออกไทยไปตะวันออกกลางขยายตัวขึ้นถึง 5% ภายใน 5 ปี จากเดิมที่ไม่ถึง 1%
ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำเอกชนให้เกิดการลงทุน โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งในการระดมทุน ปรับโครงสร้างการขนส่งใหม่ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการขนส่งทางบกมากกว่าประเทศอื่นๆ หากไม่ปรับโครงสร้าง จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
--อินโฟเควสท์ โดย ตลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--