การผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกระบวนการและขั้นตอนในการ "ออก" ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเอาไว้ใน EP.33 ว่า ใบรับรองที่แสดงว่าไฟฟ้านั้นถูกผลิตขึ้นโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวปฏิบัติที่ออกและพัฒนาโดย International REC Standard Foundation ทั้งจะมีการตรวจสอบและดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็น Local Issuer คำถามที่ตามมาคือใบรับรองนี้จะเป็นที่ต้องการของใคร และผู้ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจะ "ขาย" ใบรับรองนี้ได้อย่างไร คู่สัญญามีอิสระที่จะเจรจาต่อรองและกำหนดราคาใบรับรองหรือไม่ ใน EP.37 นี้ เราจะมาวิเคราะห์กันว่าระบบกฎหมายไทยรองรับการทำสัญญาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือไม่ เพียงใด มีข้อกฎหมายใดที่ควรคำนึงถึงบ้าง
*ตลาดใบรับรองการซื้อขายการผลิตพลังงานหมุนเวียน
สถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CAA) อธิบายว่า การใช้งานใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Certificate หรือ REC) เป็นไปในเป้าหมายของการอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ สนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหากพิจารณาจากการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จะจัดอยู่ใน SCOPE II: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) โดยจำนวน RECs ที่ซื้อมานั้นจะเป็นการลดข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) ในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น และสามารถอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง (Conventional Grid) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์การที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดหรือ RE100 ได้
นอกเหนือจากผลตอบแทนจากการขายไฟฟ้าแล้ว ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการ "ขาย" ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน แก่บุคคลที่ประสงค์ต้องการอ้างสิทธิ์การใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียน กล่าวคือบุคคลที่จ่ายเงินเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในภาพรวม (ซึ่งเป็นคนละประเด็นการซื้อไฟฟ้า ซึ่งเป็นการจ่ายเงินเพื่อแลกกับไฟฟ้า) เมื่อปรากฏทั้งอุปสงค์ในการใช้ประโยชน์จากการอ้างสิทธิ์การใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และขณะเดียวกันก็มีอุปทานในการจัดหาใบรับรองสิทธิ์ดังกล่าวจึงย่อมเกิด "ตลาดใบรับรองการซื้อขายการผลิตพลังงานหมุนเวียน" ขึ้นได้
ในระดับสากลแล้ว Allied Market Research ได้ประมาณการว่าตลาดใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนนั้นมีมูลค่า 9.3 พันล้าน USD ในปี ค.ศ. 2020 และมีโอกาสที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 103.2 พันล้าน USD ในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ยังได้มีการวิเคราะห์ว่าการซื้อขาย REC ในระดับโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่น ใบรับรองภายใต้มาตรฐานของ The International REC Standard (I-REC) ที่นิยมใช้กันมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย มีการอ้างสิทธิ์เพิ่มขึ้นถึง 103% สำหรับในไทยเติบโตสูงถึง 135% และคาดว่าจะขยายตัวได้อีกมากในอนาคต (ข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2022)
*ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นทรัพย์สินหรือไม่
ตาม International REC Standard นั้น บุคคลที่ประสงค์จะซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะต้องแจ้งความต้องการซื้อโดยทำคำสั่งซื้อไปที่ผู้ขายใบรับรอง เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ผู้ขายใบรับรองจะต้องดำเนินการเพื่อให้ กฟผ. ตรวจสอบและออกใบรับรองให้ เมื่อดำเนินการตรวจสอบและรับรองแล้ว กฟผ. จะส่งมอบใบรับรองที่ผ่านการรับรองให้ผู้ซื้อใบรับรองผ่านระบบ Registry ตามมาตรฐาน I-REC และในท้ายที่สุดผู้ซื้อใบรับรองจะชำระค่าใบรับรองให้กับผู้ขาย
จากกระบวนการซื้อขายข้างต้น จะเห็นได้ว่า "ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน" นั้นเรียกได้ว่าเป็น"แกนกลาง" ของโครงสร้างธุรกรรมซื้อขาย มาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า "สัญญาซื้อขาย" หมายถึงสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย คำถามที่เกิดขึ้นคือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็น "ทรัพย์สิน" หรือไม่
มาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า "ทรัพย์สิน" หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ใบรับรองนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงเรียกได้ว่า "มีราคา" เพราะใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่แสดงถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้จึงเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีตลาดใบรับรองการซื้อขายการผลิตพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีอุปสงค์ซื้อโดยบุคคลที่ต้องการอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ ใบรับรองนั้นเป็นสิ่งที่ "ถือเอาได้" ใบรับรองอาจถูกทำขึ้นในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกแสดงและเก็บรักษาเอาไว้ในบัญชีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลตามมาตรฐาน I-REC ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถหวงกันมิให้บุคคลอื่นเข้าแทรกแซงหรือใช้ใบรับรองของตนได้จึงเรียกได้ว่า ในขณะที่หากมีการโอนใบรับรองแล้ว ผู้รับรองโอนก็สามารถรับเอาใบรับรองเพื่อรับสิทธิในการแสดงว่าตนได้ใช้พลังงานหมุนเวียนได้ผ่านบัญชีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ แม้ว่าตัวใบรับรองจะถูกสร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบกฎหมายไทยก็ห้ามมิให้ปฏิเสธผลทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ โดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 บัญญัติห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
*สัญญาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน
สัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นมีองค์ประกอบที่เป็นสารัตถะได้แก่ การที่ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายให้กับผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อมีหน้าที่ต่างตอบแทนในการชำระราคาของทรัพย์สินดังกล่าว โดยทั่วไปแล้ว คู่สัญญามีเสรีภาพในการทำสัญญาที่จะกำหนดวิธีการในการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบสินค้าที่ซื้อขาย โดยสามารถกำหนดได้ว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อใด การกระทำใดที่จะเรียกได้ว่ามีการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายแล้ว และที่สำคัญการชำระราคานั้นจะมีเงื่อนไขและวิธีการอย่างไร
ผู้เขียนเห็นว่าสัญญาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนและบุคคลที่ประสงค์จะอ้างสิทธิ์การใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นมิใช่สัญญาที่มีกฎหมายกำหนดแบบที่ต้องทำตามกฎหมายเป็นการเฉพาะ และยังไม่ปรากฏว่ารัฐได้กำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดเสรีภาพในการทำสัญญาประเภทนี้เอาไว้ ดังนั้น โดยหลักแล้ว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายย่อมสามารถใช้เสรีภาพในการทำสัญญาในการเลือกคู่สัญญา (จะซื้อใบรับรองจากใคร หรือจะขายใบรับรองให้ใคร) คู่สัญญาสามารถกำหนดเนื้อหาของสัญญาได้ว่าผู้ซื้อจะต้องชำระราคาของใบรับรองที่ตนซื้ออย่างไร และจะถือว่ามีการส่งมอบใบรับรองเมื่อใด
คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ว่าการแสดงเจตนาซื้อและขาย ตลอดจนการสื่อสารใด ๆ ที่จะมีผลทางกฎหมายระหว่างคู่สัญญานั้นจะดำเนินการโดยผ่านบัญชีการซื้อขาย (Trade Account) ซึ่งอาจเป็นแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ คำเสนอซื้อและคำสนองขายมีผลบังคับผูกพันผู้แสดงเจตนาซึ่งถูกแสดงและบันทึกโดยผ่านระบบดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าสัญญาซื้อขายใบรับรองนั้นเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ได้ และอาจมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่ามีการโอนใบรับรองให้กับผู้ซื้อแล้ว (ผู้ซื้อนำไปอ้างสิทธิ์ว่าตนได้ใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว) ให้ใบรับรองนั้นถูกไถ่ถอนแล้ว และจะไม่มีการโอนการอ้างสิทธิ์ใช้พลังงานหมุนเวียนอีกเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้สิทธิ์ซ้ำ
*ราคาของใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน
ราคาของทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นนับได้ว่าเป็นหัวใจของธุรกรรมการซื้อขาย ผู้ขายจะได้รับเงินจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรหมุนเวียนก็ต่อเมื่อสามารถเรียกเก็บราคาใบรับรองที่ขายให้กับผู้ซื้อได้ ในปัจจุบัน ราคาใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นไปตาม "ตลาด" คู่สัญญาซื้อขายสามารถเจรจาตกลงราคาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ ทั้งนี้ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่าราคาเบื้องต้นของใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะมีราคาใบรับรองละ 50 บาท (บทสัมภาษณ์ฝ่ายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กองพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและระบบโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัล ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564)
ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ถูกสร้างขึ้นตามมาตรฐานสากลและสามารถถูกนำไปอ้างสิทธิ์การใช้พลังงานหมุนเวียนในหลายประเทศย่อมเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดระดับสากลได้ ผู้ขายย่อมสามารถกำหนดราคาขายใบรับรองได้มากขึ้นหรือมีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคาของใบรับรองให้มากขึ้นได้ และหากวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของตลาดใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนอาจมีราคาสูงขึ้นหากความต้องการใบรับรองมีปริมาณและการออกใบรับรองทำได้น้อยกว่า โดยตัวเร่งอุปสงค์ใบรับรองนั้นมีหลายเหตุการณ์เช่นการที่องค์กรธุรกิจจะต้องดำเนินการให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของตนกลายเป็นศูนย์ภายในเวลาที่ได้ประกาศเอาไว้
โดยสรุป ผู้เขียนมีความเห็นว่าใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนนั้นมีสถานะเป็นทรัพย์สิน เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเนื่องจากสามารถถูกใช้เพื่อแสดงถึงการใช้ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนโดยผู้ซื้อได้ ใบรับรองนี้อาจอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งคู่สัญญาสามารถหวงกันมิให้บุคคลเข้าแทรกแซงหรือถือเอาไปได้ และสามารถมีการโอนกันโดยอาศัยระบบที่เกี่ยวข้องเช่น บัญชีการซื้อขาย ทั้งนี้ คู่สัญญาซื้อขายมีอิสระที่จะตกลงราคาซื้อขายใบรับรองได้ ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายและใช้ประโยชน์จากใบรับรองได้อีกด้วย
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย