นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล (WAVE) กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าในการผลักดันภาคธุรกิจ และทุกภาคส่วนที่อยู่ในซพพลายเชนของธุรกิจทั้งหมด มีความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญในการเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอน ผ่านการขับเคลื่อนของธุรกิจในเครือ คือ บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการคาร์บอนเครดิตครบวงจร
โดยปัจจุบันยอมรับว่าประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันจากการที่จะมีมาตรการการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในการส่งออกสินค้า และการสั่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบต่างๆของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเริ่มมีอย่างชัดเจนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 67 ในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงจีน ที่จะมีการบังคับใช้มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนออกมา
"หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศ ที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งซัพพลายเชน และทำให้ประเทศไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และเวลาก็เริ่มเข้ามาใกล้มากขึ้น แต่ภาพรวมของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศยังเดินหน้าเกี่ยวกับการลดคาร์บอนไปค่อนข้างช้า" นายเจมส์ กล่าว
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันจากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ที่จะต้องมีการเดินหน้าเปลี่ยนผ่านในการหาแนวทางลดคาร์บอน และการมีคาร์บอนเครดิต เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังานของไทยในปัจจุบัน ยังคงใช้พลังงานที่มาจากถ่านหินเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 70-80% ทำให้จำเป็นต้องหาแนวทางในการลดคาร์บอนอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่เผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันของการลดคาร์บอน โดยเฉพาะในภาคเกษตร ที่มีการส่งออกดป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเข้ามาช่วยในการหาแนวทางในการให้ความรู้และการหาแนวทางลดคาร์บอนให้กับเกษตรกร และกลุ่มปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีการปล่อยคาร์บอนสูง
โดยในส่วนของบริษัทในงานด้านให้คำปรึกษาในการลดคาร์บอน และการจัดเก็บคาร์บอนเครดิต มีภาคธุรกิจหลายรายที่เข้ามาปรึกษาแนทางในการลดคาร์บอน โดยเฉพาะแนวทางในงานด้านการปลูกป่า การใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางแรกๆที่ภาคธุรกิจเข้ามาปรึกษาในการดำเนินการ ซึ่งบริษัทมีการปลูกป่า 3 ล้านไร่ ในสปป.ลาว ที่มีการให้บริการแก่ภาคธุรกิจในการช่วยลดคาร์บอนเครดิต ส่วนภาคธุรกิจการเกษตรบริษัทยังมีการทำแบบทดลองที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ซึ่งจะมีการนำเสนอให้กับกลุ่มธุรกิจที่สนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสามารถลดคาร์บอนในภาคการเกษตรได้ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้บริษัทยังมีการขายคาร์บอนเครดิตให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมเมื่อภาคธุรกิจมีความต้องการใช้คาร์บอนเครดิต โดยปัจจุบันถือว่าบริษัทมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถือว่ามากที่สุดในประเทศอยู่ที่ 5 ล้าน Recs และในปี 67 มีแผนที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตจากเวียดนามเข้ามาเพิ่มราว 8 ล้าน Recs เพื่อรองรับกับความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามการผลักดันในเรื่องของการลดคาร์บอนยังคงต้องได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เข้ามากำกับ คือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องมีการเดินหน้าผลักดันควบคู่ไปกับการทำงานของกระทรวงอื่นๆ เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของทุกภาคส่วน ยอมรับว่าจะมีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น แต่มองว่าเป็นการที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจ อุตสาหกรรม และประเทศที่สูงขึ้น โดยที่ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ภาครัฐ และเอกชน จะต้องมีความร่วมมือกันในการผลักดัน รวมถึงจะต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ภายในปี 2050