บมจ. ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 292,000,000 หุ้น ที่ราคา 1.40 บาท/หุ้น โดยเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 240,000,000 หุ้น และนายเถิ่งฟ้ง เหยิ่ง ผู้ถือหุ้นเดิมขายหุ้นสามัญเดิม 52,000,000 หุ้น รวมมูลค่าเสนอขาย 408.80 ล้านบาท ระยะเวลาจองซื้อ วันที่ 13-15 ก.ย.66 ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คือ บล.ฟินันเซีย ไซรัส โดยมีบริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัดเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
SINO จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (SET) หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ในวันที่ 20 ก.ย.66
บริษัทจะนำเงินจากขาย IPO 1.ไปขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ 50 ล้านบาทภายในปี 66 ลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียนและลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 150 ล้านบาทภายในปี 67 และเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและเพื่อขยายกิจการ 114.62 ภายในปี 67
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทที่เสนอขายในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทฯ (Price to Earnings Ratio : P/E Ratio) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญของบริษัทที่เสนอขายหุ้นละ 1.40 บาท คิดเป็น P/E Ratio เท่ากับ 6.90 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65-30 มิ.ย.66 ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 210.98 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ หลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 1,040 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.20 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ P/E Ratio ดังกล่าว คำนวณจากผลประกอบการในอดีต 4 ไตรมาสย้อนหลัง โดยที่ยังมิได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
บริษัทได้เปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ได้แก่ บมจ. ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) และ บมจ. โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC) ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค.66 มี P/E) เฉลี่ยเท่ากับ 12.71 เท่า 9.81 เท่า และ 6.14 เท่า ตามลำดับ
"การกำหนดราคา IPO เป็นราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์อุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ จากการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจรที่มีความชำนาญในเส้นทางขนส่งทางทะเลในเส้นทางไทย-สหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของประเทศไทย รวมถึงมีศักยภาพการเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแผนการขยายการให้บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนนเนอร์ รวมทั้งแผนการลงทุนกับพันธมิตร และการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในทุกมิติ พร้อมทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญ ประกอบกับภาวะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่กำลังกลับมาสดใสในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทั้งค่าระวางเรือที่ขยับตัวสูงขึ้น รวมทั้งเป็นช่วง High Season ของธุรกิจส่งออก จึงมั่นใจว่า SINO จะเป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน" นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของ SINO กล่าว
พร้อมกันนี้ มีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 7 แห่ง ประกอบด้วย บล.กรุงศรี พัฒนสิน, บล.โกลเบล็ก, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย), บล.ดาโอ (ประเทศไทย), บล.บียอนด์, บล.เอเซีย พลัส และ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย)
นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า SINO มีพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมี OTI License และได้วางหลักประกัน FMC Bond ทำให้สามารถบริหารจัดการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีแผนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการให้บริการเพื่อรองรับแผนขยายฐานลูกค้าในภูมิภาคอาเซียน และการขยายพื้นที่ตู้รับฝากตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มเติมในจังหวัดระยอง ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายนันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SINO เปิดเผยว่า การเดินหน้าเข้า SET สะท้อนถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นของ SINO บนเส้นทางการดำเนินธุรกิจกว่า 10 ปี บริษัทเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร จากการให้บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ทั้งทางทะเล ทางอากาศ และทางบก รวมถึงการให้บริการให้เช่าคลังสินค้า การให้บริการด้านพิธีการศุลกากร และการให้บริการสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในการให้บริการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางทั่วโลก ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มายาวนาน ด้วยความชำนาญการให้บริการบนเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลมากกว่า 100 ประเทศ ครอบคลุมเส้นทางไทย-โซนอเมริกาเหนือ เส้นทางไทย-เอเชีย และเส้นทางไทย-ยุโรป ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักในการส่งออกและนำเข้าสินค้าหลักของการค้าโลก ทั้งรูปแบบการขนส่งแบบเต็มตู้และแบบไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและตรงต่อเวลา
"บริษัทฯ มีเป้าหมายเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรและขยายความครอบคลุมไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากแผนกลยุทธ์ต่อยอดความชำนาญการให้บริการขนส่งทางทะเลในเส้นทางสหรัฐ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชาและอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลให้มากขึ้น รวมถึงแผนเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่ประกอบธุรกิจ Freight Forwarding ทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ควบคู่กับการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์เพิ่มเติม อันจะส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันการให้บริการโลจิสติกส์ในระยะยาวให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการเติบโต และสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว" นายนันท์มนัส กล่าว
นอกจากนี้ SINO พร้อมนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เช่น ระบบ WMS เพื่อบริหารจัดการคลังสินค้า การพัฒนางานขนส่ง ISO Tank หรือตู้คอนเทนเนอร์บรรจุของเหลว การนำระบบ GPS มาใช้เพื่อติดตามตำแหน่งรถในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงบันทึกและควบคุมความเร็วในการขับขี่ให้มีความเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
SINO ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ทั้งทางทะเล (Sea Freight) ทางอากาศ (Air Freight) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operation) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ที่มีความต้องการบริการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางทั่วโลก (End - to - End Global Logistics) รวมถึงการให้บริการให้เช่าคลังสินค้า การให้บริการขนส่งทางบก การให้บริการด้านพิธีการศุลกากร และบริการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ