GFC เปิดเทรดวันแรกที่ 10.70 บาท เพิ่มขึ้น 3.70 บาท หรือ 52.86 % จากราคา IPO ที่ 7.00 บาท
บล.โกลเบล็ก ประเมินราคาเหมาะสมหุ้น บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC) ในปี 67 ราว 10.10 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี Prospective PE Ratio เทียบกับบริษัทหมวดธุรกิจทางการแพทย์ ทั้งกลุ่มโรงพยาบาลขนาดเล็ก และคลินิกเฉพาะทาง เพื่อสะท้อนความเสี่ยงและลักษณะของการประกอบธุรกิจ ใช้ Prospective PER ที่ 27x อยู่ในช่วง Forward PER ปี 67 ของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 67 ราว 0.37 บาท คำนวณเป็นราคาเหมาะสม
GFC ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากแบบครบวงจรด้วยวิธีการ IVF-ICSI และ IUI รวมถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การให้บริการตรวจเบื้องต้น ตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ 1) คืนเงินกู้สถาบันการเงิน 2) ลงทุนขยายสาขาใหม่ และ 3) ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและเป็นเงินทุนหมุนเวียน
ประเด็นสำคัญในการลงทุน
- รายได้ช่วงปี 63-65 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 13% ต่อปี และงวด 6M66 โต 38%YoY โดยมีรายได้ 214 ลบ. 242 ลบ. และ 276 ลบ. ตามลำดับ คิดเป็น CAGR 13% ต่อปี และ 167 ลบ. +38%YoY โดยหลักมาจากการเติบโตของการให้บริการรักษาแบบ ICSI (สัดส่วนรายได้ 70%) และบริการเกี่ยวเนื่อง ตามจำนวนการเติบโตของคนไข้ที่เข้ารับบริการ เป็นผลจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งลูกค้าหลักกว่า 90% เป็นคนในประเทศ ประกอบกับทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง
ส่วน %GPM ปี 63-65 อยู่ที่ระดับ 49.9%, 49.2% และ 47.1% การปรับลดลงในปี 65 เนื่องจากรับรู้ค่าเสื่อมอาคารสำหรับคลินิกใหม่สุวรรณภูมิ-พระราม 9 และการเพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ แต่ปรับดีขึ้นใน 6M66 มาอยู่ที่ระดับ 48.2% จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ส่วน %SG&A ปี 63-65 และ 6M66 อยู่ที่ระดับ 11.8%, 13.6%, 17.3% และ 19.1% ตามลำดับ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 64 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการนำหุ้นเข้าตลาดฯ ส่งผลให้ปี 63-65 และ 6M66 มีกำไรสุทธิ 67 ลบ. 70 ลบ. 66 ลบ. หดตัวเฉลี่ย (CAGR) 1% ต่อปี และ 34 ลบ. +26%YoY และคิดเป็น 69% ของประมาณการกำไรทั้งปี 66 ที่ราว 49 ลบ. -25%YoY ซึ่งเราอาจพิจารณาปรับเพิ่มประมาณการดังกล่าว
- ตลาด IVF ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตราว 6% ต่อปี สนับสนุนจากทั้งคนไข้ในประเทศและต่างประเทศ เรามีมุมมองบวกต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากของประเทศไทย ทั้งจากคนไข้ต่างชาติในแง่ Medical Tourism ประกอบกับอัตราค่าบริการการรักษาถูกกว่าภูมิภาคราว 40% และถูกกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วราว 68%
นอกจากนี้ จำนวนประชากรไทยเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภาวะมีบุตรยาก จึงเป็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจนี้ จากคนไข้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย Allied Market Research คาดว่าในปี 70 มูลค่าตลาด IVF ของประเทศไทยจะมีมูลค่าราว 99.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 63 ถึง 1.5 เท่า คิดเป็น CAGR 6% ต่อปี
กำไรปี 66-67 คาด CAGR ที่ 12% ต่อปี จากแนวโน้มคนไข้ที่เพิ่มขึ้นและการขยายสาขาใหม่ 2 แห่ง คาดรายได้ราว 312 ลบ. และ 479 ลบ. ตามลำดับ คิดเป็น CAGR ที่ 32% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุน คือ 1) คลินิกสาขาเดิมพระราม 3 เติบโตตามแนวโน้มจำนวนคนไข้ที่เข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นหลังโควิดที่คลี่คลาย คาดเติบโตเฉลี่ยราว 10% ต่อปี และ 2) การขยายคลินิกสาขาใหม่ 2 แห่ง คือ สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 และ สาขาอุบลราชธานี
ส่วนสมมติฐาน %GPM คาดที่ระดับ 43.8% และ 45.6% ตามลำดับ (ปี 65 อยู่ที่ระดับ 47.1%) ลดลงจากค่าเสื่อมราคาของอาคารใหม่ (คลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9) ขณะที่ %SG&A/Sales คาดที่ระดับ 21.0% และ 22.9% ตามลำดับ (ปี 65 อยู่ที่ระดับ 17.3%) เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการนำหุ้นเข้าตลาดฯ และปี 67 มีค่าใช้จ่ายสำหรับ Agency จัดหาลูกค้าต่างชาติ แต่คาดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะปรับลดลงหลังจากนำเงินเพิ่มทุนไปจ่ายคืนหนี้ ส่งผลให้เราคาดกำไรสุทธิปี 66-67 ราว 49 ลบ. -25%YoY และ 82 ลบ. +54%YoY ตามลำดับ หรือคิดเป็น CAGR ที่ 12% ต่อปี