นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น (TAN) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัท หลังจากยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้วนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ ก.ล.ต.อนุมัติ คาดว่าจะสามารถเริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งได้ในเร็วๆนี้ จึงน่าจะเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในช่วงไตรมาส 4/66
บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 77.5 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.8% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO เพื่อระดมทุนไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงิน และชำระคืนเงินกู้อื่นๆ ที่กลุ่มบริษัทอาจมีขึ้นในอนาคต รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ
TAN เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องประดับพรีเมียมราคาเข้าถึงได้แบรนด์ Pandora, กระเป๋าและเครื่องแต่งกายพรีเมียมแบรนด์ Marimekko, กระเป๋าพรีเมียมราคาเข้าถึงได้แบรนด์ Cath Kidston, ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงาม รวมถึงบริการสปาระดับลักซ์ชัวรี อัปเปอร์สเกลหรือบูทีค ลักซ์ชัวรีและไลฟ์สไตล์ แบรนด์กลุ่ม HARNN ด้วยวิชั่นที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำกลุ่มบริษัทไลฟ์สไตล์แฟชั่นชั้นนำในระดับภูมิภาค ผ่านการส่งมอบประสบการณ์ที่พิเศษแก่ลูกค้า และสร้างคุณค่าจากการดำเนินงานที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน
นายธนพงษ์ กล่าวว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ระดับโลกในการนำผลิตภัณฑ์มาจัดจำหน่ายในประเทศไทย ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดของแบรนด์มาสู่ผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด "Bring The Best of The Brand to The Best of Thailand" กระทั่งประสบความสำเร็จในการสร้างความนิยมให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทย และกำลังมุ่งสู่การเติบโตในระดับภูมิภาค
บริษัทมีจุดแข็งในการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน จากการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่มีแบรนด์สินค้าที่มีความหลากหลาย มีศักยภาพในการเติบโตสูง และมีช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถตอบสนองความต้องการทุกกลุ่มลูกค้า
แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และแฟชั่นภายใต้พอร์ตโฟลิโอของกลุ่มบริษัทประสบความสำเร็จระดับโลก มีอัตราการเติบโตสูง ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายส่วนใหญ่มาจากแบรนด์ Pandora ราว 50% รองลงมาเป็นแบรนด์ Marimekko 17% แบรนด์ Cath Kidston 16% ที่เหลือเป็น HARNN ที่ได้เข้าซื้อมาก่อนหน้านี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 66 ยอดขายของบริษัทเติบโตราว 17% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อน แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีความผันผวน แต่บริษัทมองว่ากลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงที่เป็นเป้าหมายหลักยังคงจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบรนด์ Marimekko ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นสูงถึง 30% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าของใช้และตกแต่งบ้านที่สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกันการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังโควิดคลี่คลายเป็นปัจจัยหนุนยอดขาย โดยเฉพาะแบรนด์ HARNN ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่ภาครัฐเตรียมวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวจีนจะเป็นปัจจัยหนุนให้กับยอดขายของบริษัทตั้งแต่ไตรมาส 4/66 โดยเฉพาะแบรนด์ HARNN ที่มีจุดจำหน่ายในร้านดิวตี้ฟรี มั่นใจว่าในภาพรวมของยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่นนอกเหนือจากการเข้าสู่ช่วงไฮซัซั่นของธุรกิจ คาดว่ายอดขายทั้งปี 66 จะเติบโตขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขาย 1.28 พันล้านบาท
บริษัทยังคงจะนำเสนอไลฟ์สไตล์ทางด้านแฟชั่นที่นำไปรวมกับความโดดเด่นในเรื่องอาหารที่มีความทันสมัย และสามารถดึงดูดคนไนประเทศและนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะการพัฒนาร้าน Marimekko Cafe เปิดสาขาแรกรูปแบบ Pop-up Store ที่เซ็นทรัลแอมบาสซี ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ถือเป็นโมเดลแรกที่ Marimekko มอบให้บริษัทต่อยอดพัฒนาในรูปแบบคาเฟ่ ซึ่งจะมีการขยายสาขาเพิ่มในเอ็มโพเรียม และปรับเสกลร้านเดิมไปเป็นรูปแบบ Flagship Store ในอนาคต
หลังประสบความสำเร็จจาก Marimekko Cafe บริษัทมองเห็นโอกาสและจุดแข็งในการนำเสนอรูปแบบร้านอาหาร จึงได้เตรียมต่อยอดนำแบรนด์ร้านอาหารของเชฟชื่อดัง คือ Gordon Ramsay มาเปิดในประเทศไทยในช่วงต้นปี 67 ที่เอ็มสเฟียร์ เป็นสาขาแรก ถือเป็นแบรนด์ร้านอาหารแบรนด์แรกในพอร์ตฟอลิโอของบริษัทที่จะเข้ามารองรับไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ในการลิ้มลองอาหารจากเชฟระดับโลก
ส่วนแผนการนำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมนั้น ในปี 67 เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 แบรนด์สินค้าแฟชั่นจากต่างประเทศ ซึ่งจะคัดเลือกจาก Identity ที่ตรงกับบริษัท มีความเป็นไลฟ์สไตล์แฟชั่น สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งบริษัทยังคงเดินหน้าในการลงทุขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในปี 67 โดยเฉพาะในต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน แบรนด์ Marimekko และ Cath Kidston ทั้งสิงคโปร์และเวียดนาม ส่วนแบรนด์ HARNN จะขยายสาขาในญี่ปุ่นและซาอุดิอาราเบีย จากปัจจุบันบริษัทมีสาขารวมกว่า 120 สาขา
นายธนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกภายในประเทศในปี 66 ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้วตามการใช้จ่ายที่กลับเข้าสู่ปกติ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทยจะทยอยฟื้นตัวและเพิ่มขึ้นเป็น 10.1 ล้านล้านบาทภายในปี 69 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 64-69 คิดเป็น 3.8% ต่อปี จากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาล รวมถึงการได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอีกด้วย