บล.พาย ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) สัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 1,510-1,555 จุด ให้น้ำหนักปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เก็งคงอัตราดอกเบี้ย ส่วนปัจจัยในประเทศสัปดาห์นี้ไม่มีนัยสำคัญรอเพียงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เชิงกลยุทธ์ยังไม่เพิ่มพอร์ตการลงทุนแม้ดัชนีจะเริ่มปรับลงมาบ้างก็ตาม เนื่องจากช่วงถัดไปยังเต็มไปด้วยหลายความเสี่ยง ส่วนหุ้นแนะนำระยะสั้นเลือกกลุ่มน้ำมัน (PTTEP) โรงกลั่น (BCP SPRC TOP) ค้าปลีก (BJC CRC CPALL HMPRO) ท่องเที่ยว (AOT CENTEL ERW MINT SPA) ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB) เดินเรือ (PSL) ขนส่ง (BEM) ศูนย์การค้า (CPN)
PTTEP (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 180.00 บาท) ภาพรวมไตรมาส 3/23 ยังเป็นบวกจากแนวโน้มปริมาณขายที่ปรับดีขึ้น โดยผู้บริหารให้แนวทางไว้ที่ 470kBOED (+6% QoQ) ขณะที่ราคาขายก็มีโอกาสปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ขึ้นไปแตะ 84 เหรียญสหณํฐ/บาร์เรล ในเดือน ก.ค. หรือขึ้นไปกว่า 6.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากค่าเฉลี่ยในไตรมาส 2/66 ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นช่วงล่าสุดเป็นผลจากการที่ OPEC+ ขยายกรอบการลดปริมาณผลิตไปถึงเดือน ส.ค.
PSL (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 12.40 บาท) คาดว่าค่าระวางเรือเทกองจะฟื้นตัวแข็งแกร่งในปลายไตรมาส 3/66 ถึงสิ้นปี หนุนจากปัจจัยตามฤดูกาล เช่น อุปสงค์ต่อถ่านหินที่สูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน และการเก็บเกี่ยวธัญพืชทางซีกโลกเหนือ ส่วนในระยะยาว อุปสงค์-อุปทานที่มีสมดุลดีขึ้นจะพยุงให้ค่าระวางยังอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังทำกำไรได้
บล.พาย ระบุว่า ตลาดหุ้น Dow Jones คืนวันศุกร์ปิดลบ 0.8% ถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มชิปจากความวิตก Demand ที่อ่อนแอลง ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดบวก 0.3% นักลงทุนยังคงให้น้ำหนักกับอุปทานที่ตึงตัว
สัปดาห์นี้ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ผลประชุมเฟดที่จะทราบผลอย่างเป็นทางการในช่วงเช้า วันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย อิงข้อมูลจาก CME FED Watch ให้น้ำหนัก 98% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยระดับเดิม อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมประจำไตรมาสและจะมีการเปิดเผยทั้งคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ (GDP , PCE) รวมถึงเส้นทางดอกเบี้ยในช่วงถัดไป (Dot Plot) อิง Dot Plot งวดเดือน มิ.ย. พบว่าปลายปี 2023 ดอกเบี้ยเฟดจะอยู่ที่ 5.5-5.75% และปี 67 จะอยู่ที่ 4.25-4.5%
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบ BRT ที่ปรับขึ้นมาทดสอบ 93.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 เดือนและหากเทียบกับเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมา 20% เป็นผลให้ เงินเฟ้อสหรัฐฯขยับขึ้น 3 เดือนติดต่อและยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% (เงินเฟ้อสหรัฐฯล่าสุด 3.6%) ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ถ้อยแถลงจากประธานเฟดมีโอกาสสูงจะส่งสัญญาณเข้มงวดพร้อมกับโอกาสปรับขึ้น Dot Plot ให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทย
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ 1. ใบขออนุญาตก่อสร้างและยอดสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯในวันอังคาร Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 1.45 ล้านใบอนุญาตและ 1.44 ล้านหลังคา ตามลำดับ 2. ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ Bloomberg ประเมินไว้ที่ 4.1 ล้านหลังคาเรือน 3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นทั้งสหรัฐฯและยุโรปในวันศุกร์