ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักลงทุนไทยหันไปลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศกันมากขึ้น เพราะผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นไทย หุ้น บจ.ตลาดนอกน่าสนใจกว่า แต่ในแง่ภาษี ต้องบอกว่ากรมสรรพากรมีการเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ก็มีการตีความของเจ้าพนักงานสรรพากรแตกต่างกันไป
ล่าสุด อธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 41 ซึ่งคำสั่งนี้ เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการตรวจและแนะนำผู้อยู่ในประเทศไทยที่มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่การงานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 ในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้น มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาประเทศไทย
โดยจะเริ่มใช้บังคับกับเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
คำสั่งล่าสุดนี้ เป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติใหม่ ที่พูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ให้ผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ และอาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หากนำเงินเข้าไทยปีไหน ก็ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ในปีนั้น
จากก่อนหน้านี้ที่อาจมีการตีความประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ไปในทางที่ว่า ถ้าเรามีรายได้จากต่างประเทศ และนำเงินส่วนนี้เข้าไทยในปีถัดไป ก็จะไม่ต้องเสียภาษี เพราะขาดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งไป
ทั้งนี้ สำหรับรายได้จากต่างประเทศ หมายถึง
- รายได้ที่เกิดจากการทำงานในต่างประเทศ
- รายได้จากการทำธุรกิจในต่างประเทศ
- ค่าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ
- กำไรจากการขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ
*ลงทุนนอกโดยตรงกระทบหนัก
บลน.ฟินโนมีนา ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าหากประกาศนี้มีผลบังคับใช้จริง เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ผู้ลงทุนจะต้องนำผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศทั้งเงินปันผล และ capital gain ที่โอนกลับมาไทยไปรวมกับรายได้ประจำปี เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะกระทบกับผู้ที่ออกไปลงทุนต่างประเทศโดยตรง เช่น หุ้นนอก ตราสารหนี้นอก กองทุนส่วนบุคคลที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ และกองทุน offshore ต่างๆ
โดยการคิดภาษีจะถูกนำมารวมเป็นรายได้ และคำนวณตามฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแบบขึ้นบันไดสูงสุด 35% ส่วนกองทุนรวมในประเทศไทย จะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ เนื่องจากในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล 15% อยู่แล้ว สำหรับกองทุนหุ้น กำไรจากเงินปันผลเราสามารถเลือกได้ว่าจะเสียภาษี 10% หัก ณ ที่จ่าย หรือนำไปคำนวณกับเงินได้ปลายปีเป็น Final tax ขณะที่ Capital gain ก็ได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว
*ไพรเวทฟันด์กลับมาทบทวนแผนภาษี
แหล่งข่าวจากวงการการลงทุนกลุ่มลูกค้าไพรเวท ฟันด์ กล่าว่า เอกสารประกาศของกรมสรรพากรที่ออกมาจะส่งผลกระทบต่อลูกค้ากลุ่มไพรเวท ฟันด์ ค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าที่เป็นกลุ่ม High net worth จะลงทุนตรงในต่างประเทศค่อนข้างมาก สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนในประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อภาษีของนักลงทุนกลุ่มนี้จะสูงขึ้น นักลงทุนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระดับเพดานเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การคิดภาษีจากเงินได้ทีมาจากการลงทุนต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก
ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาในช่วงแรกของกับนักลงทุนกลุ่มนี้ ซึ่งแต่ละไพรเวท ฟันด์ ที่ดูแลลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องมีการเตรียมตัววางแผนภาษีให้กับลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใหม่ที่ออกมา แต่ในมุมมองยังคงเชื่อว่าการลงทุนในต่างประเทศเป็นโอกาสในการลงทุนที่ดีที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ แต่เมื่อมีภาษีที่อาจจะต้องเสียมากขึ้นเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องพิจารณาในเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอาจจะไม่โยกย้ายเงินลงทุนที่อยู่ในต่างประเทศบ่อยครั้ง หากไม่มีความจำเป็น หรือลูกค้าบางรายนำผลตอบแทนที่ได้ไปลงทุนต่อ ซึ่งกรณีแบบนี้จะไม่มีผลกระทบในเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือลูกค้าบางรายลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศที่ออกจากไพรเวท ฟันด์ในประเทศ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในประเทศที่เป็น Feeder Fund ก็ไม่มีผลกระทบในเรื่องภาษีที่คิดคำนวณเพิ่ม
*ปิดทางรายย่อยลงทุนหุ้นนอก สับสนแนวทางปฏิบัติ
สำหรับแพลตฟอร์มการลงทุนหุ้นต่างประเทศที่เจาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อย หากประกาศดังกล่าวมีผลที่รวมกลุ่มนี้เข้าไปด้วย มองว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยในกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ทำให้ต้นทุนที่เกิดจากภาษีเพิ่มเข้ามาอีก แต่ก็ยังมีทางเลือกการลงทุนต่างประเทศที่มีอยู่ที่คาดว่าจะไม่รวมอยู่ในการคิดคำนวณภาษีจากประกาศดังกล่าว เช่น กองทุนรวมต่างประเทศที่ออกโดย บลจ.ในประเทศ รวมทั้ง DR และ DRX เป็นต้น
"ประกาศที่ออกมายังค่อนข้างสับสนในเรื่องของหลักการปฏิบัติ และประเภทของการลงทุนว่าอะไรบ้างที่รวมอยู่ในกฎเกณฑ์ใหม่บ้าง ซึ่งหากเหมารวมหมดของการลงทุนในต่างประเทศ แพลตฟอร์มที่ซื้อขายหุ้นต่างประเทศได้ก็จะรวมไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อโอกาสในการลงทุนของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย แต่ลูกค้า High net worth ส่วนใหญ่ก็จะมีผลกระทบในเรื่องภาษีที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องมีการพูดคุยและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าในการวางแผนภาษี และการลงทุน" แหล่งข่าว กล่าว
นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวถึงประกาศของกรมสรรพากรที่กำหนดให้เงินลงทุนจากต่างประเทศกลับเข้ามาต้องเสียภาษีเงินได้แม้ว่าจะนำกลับเข้ามาคนละปีกับเมื่อนำเงินออก โดยมีผล 1 ม.ค.67 นั้นว่าเดิมกรมสรรพากรมีการเก็บภาษีจากรายได้หรือเงินลงทุนในต่างประเทศหากนำเข้าในปีนั้นก็ต้องนำมาคำนวณเสียภาษี แต่หากนำเข้าในปีถัดไปหรือปีถัดๆ ไปก็ไม่ต้องเสียภาษี ก็ทำให้ใช้ช่องว่างนี้เพื่อหลบเลี่ยงภาษีกัน แต่ประกาศฉบับใหม่เขียนให้ชัดเจนออกมาเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่สรรพากร ตีความให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยระบุว่า ต่อให้นำกลับมาปีไหนก็ตามก็ต้องมายื่นเสียภาษี
ประเด็นดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกลุ่มไพรเวทแบงกิ้ง กลุ่มที่ออกไปลงทุนโดยตรงผ่านโบรกเกอร์ หรือผ่านแอปพลิเคชัน รวมไปถึงบริษัทต่างชาติที่เข้ามารุกตลาดไพรเวทแบงกิ้งในไทยมา 3-4 ปี แล้ว อาทิ เครดิตสวิส, ยูบีเอส, แอลจีที ,จูเลียสแบร์ โดยเป็นกลุ่มที่ต้องการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ ก็ย่อมต้องการนำเงินลทุนกลับ รวมไปถึงลูกค้าของบลจ.ทิสโก้ที่ลงทุนกองทุนส่วนบุคคล(Private Fund) ก็ต้องเสียภาษี แต่ในส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนตลาดต่างประเทศ (FIF) จะได้รับผลกระทบเชิงบวก (Positive)
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ยังไม่แน่ใจว่าใครจะส่งรายงานให้กรมสรรพากร หรือให้เป็นหน้าที่ใคร จากการลงทุนผ่านโบรกเกอร์ หรือแอปพลิเคชัน เพราะโบรกเกอร์ก็ไม่ใช่เป็นคนจ่ายผลตอบแทน ซึ่งเดิมนักลงทุนส่วนบุคคลจะเป็นผู้ยื่นภาษีเอง
นางชวินดา หาญรัตนกุล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย และในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า จากประกาศกรมสรรพากรดังกล่าวนาจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวม แต่จะกระทบต่อกลุ่ม Wealth ที่เห็นโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ โดยหากลงทุนต่างประเทศและมีการโยกเงินลงทุนเข้าๆออกๆ ก็น่าจะไม่สะดวก แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องรอดูในรายละเอียด