นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.เจนก้องไกล (JPARK) เปิดเผยว่า JPARK เซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดการการจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย และมี บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บล.โกลเบล็ก บล.กรุงศรี พัฒนสิน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เป็นผู้ร่วมเป็นผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย
JPARK จะเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 110 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกิน 27.50% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO และจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในหมวดธุรกิจบริการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 3 ต.ค.
บริษัทมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถมามากกว่า 20 ปี สามารถนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละประเภทได้อย่างครบวงจร ซึ่งภายหลังจากการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จะผลักดันให้สามารถขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคต ด้วยทีมงานที่มีความพร้อมและประสบการณ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญในธุรกิจ
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ JPARK กำหนดราคาหุ้นละ 3.80 บาท เปิดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 25-27 ก.ย.66
"JPARK เป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจบริการน่าสนใจ ซึ่งการกำหนดราคา IPO เป็นราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากลักษณะธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องทั้งจากธุรกิจบริหารพื้นที่จอดรถและรับจ้างบริหารพื้นที่จอดรถ ประกอบกับความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่น และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับ 22-25% อัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับ 11-12% รวมถึงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจึงมั่นใจว่า JPARK จะเป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน" นายสมภพ กล่าว
นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPARK กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (Parking Service Business: PS) 2.ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business: PMS) และ 3.ธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Consultant and Installation Parking System Business: CIPS) โดยในปัจจุบันบริษัทฯ มีช่องจอดภายใต้การดูแลกว่า 28,000 ช่องจอด โดยมีทั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อ-จุดเปลี่ยนผ่านกับระบบรถไฟฟ้า ศูนย์การค้าแหล่ง CBD บริเวณโรงพยาบาล สถานศึกษา สนามบิน ซึ่งพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ภายหลังจากการระดมทุน JPARK มีแผนที่จะลงทุนขยายโครงการอาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจำนวน 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรองรับรถจักรยานยนต์ได้ 72 คัน โดยมีพื้นที่ใช้สอย 18,242 ตารางเมตร พื้นที่พาณิชย์ 2,049 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 67 รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
"หลังจากการแต่งตั้งอันเดอร์ไรท์เตอร์ และกำหนดราคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็พร้อมที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่จากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย JPARK มีเป้าหมายในการลงทุนขยายอาคารจอดรถเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อสร้างการเติบโตให้กับ JPARK อย่างมั่นคง" นายสันติพลกล่าว
ผลประกอบการของ JPARK ในปี 63-65 บริษัทมีรายได้รวม 286.17 ล้านบาท 243.61 ล้านบาท และ 455.09 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 6.51 ล้านบาท ขาดทุน 10.99 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 55.05 ล้านบาท ตามลำดับ
ในช่วงปี 63 จนถึงกลางปี 65 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ในสถานการณ์โควิดจึงส่งผลให้รายได้จากธุรกิจให้บริการที่จอดรถลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 65 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ประกอบกับ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ และธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมในปี 65 บริษัทมีรายได้และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น