นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจากที่ บมจ. นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น (NAM) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) และแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566
ปัจจุบัน NAM อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้น IPO โดยจะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในโรงงานผลิตแห่งใหม่ รวมถึงโครงการลงทุนพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ โครงการลงทุนหรือร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ
ด้านนายกำพล ทรวงบูรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน NAM มีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 700 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนเรียกชำระแล้ว 297.5 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 181 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25.86% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้ว แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 105 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย WAI Global Corporation Limited จำนวนไม่เกิน 76 ล้านหุ้น
นายวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NAM เปิดเผยว่า แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการรุกขยายธุรกิจ เนื่องจากในปัจจุบันมีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ดังนั้นการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์ (Decontamination Disinfection and Sterilization) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำอย่างปลอดภัย จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ เพราะเป็นกระบวนการสำคัญที่ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากภายนอก ส่งผลให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่จนถึงสถานพยาบาลมีการปรับตัวและใส่ใจพัฒนามาตรฐานด้านความสะอาดและการฆ่าเชื้อมากขึ้น จึงนำไปสู่ความต้องการการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่เพิ่มขึ้น บริษัทฯ จึงพร้อมรับโอกาสการเติบโต ผ่านการระดมทุนในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดความสำเร็จของบริษัทฯ
ปัจจุบัน NAM ประกอบธุรกิจผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในระดับปราศจากเชื้อในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข รวมถึงการผลิตและจำหน่ายน้ำยาและวัสดุสิ้นเปลืองสำหรับใช้ร่วมกับเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร อาทิ บริการหลังการขาย บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ปราศจากเชื้อ บริการบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ และบริการวางแผนและปรับปรุงพื้นที่ส่วนจ่ายกลางของโรงพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) โดยเฉพาะเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) เพราะกระบวนการทำความสะอาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานนั้น นับเป็นขั้นตอนสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากล
ผลิตภัณฑ์และบริการของ NAM สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.) กลุ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ (SM) 2.) กลุ่มผลิตและจำหน่ายวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (CS) และ 3.) กลุ่มงานให้บริการ (SV) โดยมีฐานลูกค้าสำคัญเป็นโรงพยาบาลและหน่วยงานองค์กรทางด้านสาธารณสุข กว่า 1,200 แห่ง ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานสากลระดับเดียวกับยุโรปและอเมริกามาอย่างยาวนาน มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า 50 ปี บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ซึ่งมีสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ของตัวเองและการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ภายใต้มาตรฐานสากล อาทิ ASME, ISO13485, ISO9001, ISO14001, CE Mark และ PED เป็นต้น เพื่อให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับทางการแพทย์ และสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, จีน, มาเลเซีย, เวียดนาม, เมียนมาร์ และ สปป.ลาว เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหวังว่าจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเพื่อช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งออกเครื่องมือแพทย์สู่ตลาดโลก
ปัจจุบันภาพรวมการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ประเภทนี้มีราคาสูง แต่ด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ที่สามารถผลิตและนำเสนอด้วยราคาที่ต่ำกว่าผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ประเภทที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche) ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้จะต้องมีองค์ความรู้เฉพาะทางด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเครื่องกล โดยมีความรู้และความชำนาญในระดับสูง มีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท รวมถึงต้องมีเงินทุนจำนวนมาก ทำให้โอกาสที่จะมีคู่แข่งรายใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างต่ำ ประกอบกับผู้ประกอบการแต่ละรายอาจไม่ได้มีผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ครบวงจรเช่นเดียวกันกับบริษัทฯ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต จำหน่าย นำเข้าผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทฯ พร้อมเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า ใส่ใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์และการบริการ โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายและให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
"NAM มุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์กลุ่มงานปราศจากเชื้อในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมหน่วยงานทางการแพทย์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการตอกย้ำพันธกิจที่สำคัญในการที่บริษัทฯ จะมุ่งมั่นส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น" นายวิโรจน์ กล่าว