บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2566 ของเมื่อวันที่ 26 ก.ย.66 ได้มีมติการเข้าลงทุนเพิ่มเติมหุ้นสามัญเพิ่มทุนของในบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) (APOT) เป็นจำนวนไม่เกิน 4,409,467,100 บาท แบ่งออกเป็น 44,094,671 หุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 100 บาท
บอร์ด TRC มีมติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวน 299,598,338.75 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 1,198,393,354.75 บาท เป็นทุนจดทะเบียน 1,497,991,693.5 บาท และอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 2,396,786,710 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.125 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.20 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 479,357,342 บาท ในอัตราส่วนการจัดสรร 4 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกำหนดวันที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น(Record Date) ในวันที่ 27 พ.ย.66
นอกจากนี้ บอร์ด TRC อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ ในวงเงินรวมไม่เกินจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ และเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจทั่วไป และชำระคืนเงินกู้รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. โดยวิธีการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบเดียวเท่านั้น กำหนดรายชื่อผู้ที่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 (Record Date) ใน วันที่ 11 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ APOT โดยกลุ่มบริษัทฯ จะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ราว 1,534.7-1,734.7 ล้านบาท , หุ้นกู้/เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 2,000 ล้านบาท และกระแสเงินสดภายในบริษัท 600-800 ล้านบาท รวม 4,334.7 ล้านบาท
บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) (APOT) ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 ของ APOT ซึ่ง มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนของ APOT เป็นจำนวน 18,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 180,000,000 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ 100 บาท โดยจะออกและเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) โดยในไตรมาสที่ 1/66 APOT ได้มีการเรียกเพิ่มทุนตามสัดส่วนไปแล้วเป็นจำนวน 450,930,000.00 บาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการเพิ่มทุนตามสัดส่วนไปแล้วเป็นจำนวน 113,303,500.00 บาท
การเพิ่มทุนส่วนที่เหลือเป็นจำนวน 17,549,070,000.00 บาท จะมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้าง และพัฒนาโครงการเหมือง และโรงแต่งแร่โพแทชที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ (โครงการเหมืองแร่โพแทช)
ปัจจุบัน APOT อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนพัฒนาโครงการเหมืองแร่โพแทชโดยอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับสถาบันการเงินในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโครงการ ทั้งนี้หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือการระดมทุน จากผู้ถือหุ้นก่อนการอนุมัติการเบิกใช้เงินกู้ตามอัตราส่วนที่สถาบันทางการเงินกำหนด โดยการเรียกเพิ่มทุนข้างต้นจะทยอยจัดสรรหุ้นตามมูลค่าการก่อสร้างจริงที่เกิดขึ้นตามสัญญารับเหมาก่อสร้างของ APOT และเป็นไปตามเงื่อนไขการเบิกใช้เงินของสินเชื่อกับสถาบันทางการเงิน
พร้อมกันนี้ภายหลังจาก ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566 ที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 17 พ.ย.66 มีมติอนุมัติการเข้าทำธุรกรรม และ APOT ได้รับอนุมัติสินเชื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการเหมืองแร่โพแทช บริษัทฯ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 4/66 บริษัทฯ จะทำการทยอยจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระหุ้นเพิ่มทุนของ APOT เป็นจำนวนไม่เกิน 4,409,467,100.00 บาท โดยมีมูลค่าสิ่งตอบแทนเป็นหุ้นสามัญของ APOT เป็นจำนวน 44,094,671 หุ้น โดยกรอบระยะเวลาจะอ้างอิงตามแผนการเรียกเพิ่มทุนของ APOT ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขเบิกเงินกับสถาบันทางการเงิน
บริษัทฯ คาดว่าการเข้าทำธุรกรรม จะทำให้บริษัทฯ ได้รับผลประโยชน์ ดังนี้
1. หากการเพิ่มทุนของ APOT ประสบความสำเร็จ จะนำมาซึ่งความสำเร็จของสินเชื่อโครงการ หรือ Financial Close และการเข้าลงนามในสัญญารับเหมาก่อสร้างที่บริษัทฯ ได้รับ Letter of Award ตั้งแต่ปี 2559 อันจะก่อให้เกิดรายได้จากการให้บริการก่อสร้างที่มีนัยสำคัญต่อบริษัทฯ
2. การเข้าทำธุรกรรมในครั้งนี้เป็นการกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพิงรายได้และกำไรสุทธิจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งมีความเสี่ยงจากการขาดความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงที่สูง
3. บริษัทฯ จะสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมภายหลังจากที่ APOT ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ APOT เป็นบริษัทร่วมของบริษัทฯ ถือหุ้นโดยบริษัทย่อยของบริษัทฯ รวมร้อยละ 25.13 ประกอบด้วย TRC Investment Limited ที่สาธารณรัฐเมอริเชียสร้อยละ 22.46 และ TRC International Limited ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณัฐประชาชนจีน ร้อยละ 2.67 ขณะที่กระทรวงการคลัง ถือหุ้นร้อยละ 20.00 และบริษัท ไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 16.13
โครงการเหมืองแร่โปแตชของ APOT ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย บริเวณอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 285 กิโลเมตร โดยบริเวณเหมืองแร่จะครอบคลุมตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลหัวทะเล โดยโครงการอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของแอ่งโคราช พื้นที่ตั้งโครงการประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วนหลัก คือ
1. พื้นที่การทำเหมืองใต้ดิน ครอบคลุมพื้นที่ทำเหมืองใต้ดินทั้งสิ้น 9,707-0-83 ไร่ โดยมีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมการทำเหมืองใต้ดินที่มีความลึกจากระดับผิวดินไม่เกิน 100 เมตรประมาณ 155-0-50 ไร่ และ
2. พื้นที่การทำเหมืองบนดิน ได้แก่ พื้นที่โรงแต่งแร่ โรงเก็บแร่ดิบ โรงเก็บผลิตภัณฑ์ อุโมงค์เข้าสู่ชั้นแร่ และอาคารสำนักงาน เป็นต้น คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 883-3-18 ไร่
3. พื้นที่นอกเขตประทานบัตรประมาณ 5,713-0-75 ไร่เพื่อใช้เป็นพื้นที่บ่อเก็บหางแร่และแนวท่อลำเลียงหางแร่
โดยโครงการเหมืองแร่โพแทชได้จัดทำประชาพิจารณ์ ตลอดจนได้รับอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2557 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถานะโครงการเหมืองแร่โพแทชในปัจจุบันพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ และอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ร่วมลงทุนใหม่และขอสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ (Project Financing)