บมจ.การบินไทย (THAI) ลุยต่อไตรมาส 4/66 คาด Cabin Factor เฉลี่ยกว่า 80% ดีมานด์มากขึ้น เพิ่มความถี่เส้นทางญี่ปุ่น จีน พร้อมเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพ-อิสตันบูล เริ่ม 1 ธ.ค.นี้ วางเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อัพฐานลูกค้าและรายได้เพิ่มขึ้นโดยใช้เครือข่ายพันธมิตรหลังมีข้อจำกัดด้านเครื่องบิน แต่ไตรมาส 3/66 ทำใจขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนหลังเงินบาทอ่อนค่าหนัก พร้อมเร่งจัดหาเครื่องบินให้ครบ 95 ลำภายในปี 70 ตามแผนฟื้นฟูรองรับบิน 3 เมือง ออสโล, มิลาน, ซิดนีย์ ขณะเดียวกันเตรียมแผนจัดหาเครื่องบินใน 10 ปีข้างหน้าคาดต้องมีฝูงบิน 100 ลำขึ้นไป นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 4/66 มีแนวโน้มยังดีต่อเนื่อง ที่มีดีมานด์มากและยังแข็งแรงอยู่ โดยคาดว่าไตรมาส 4/66 จะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยกว่า 80% และตลาดที่ยังทำรายได้ดีได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขณะที่ในไตรมาส 3/66 ยอมรับมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทอ่อนค่ามาก
โดยตลาดญี่ปุ่นถือว่ามียอดขายดีที่สุดในกลุ่มเอเชียเหนือ (ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง) โดยการบินไทยบินไปญี่ปุ่น 5 เมือง คือ โตเกียว (นาริตะ, ฮาเนดะ) , นาโกยา,โอซากา, ฟุกุโอกะ, ซัปโปโร คาดว่าจะมี Cabin Factor ในช่วงต.ค.-ธ.ค.66 เฉลี่ย 80-85% ซึ่งตั้งแต่ต.ค.นี้จะเพิ่มความถี่ในเส้นทางญี่ปุ่น ได้แก่ ซัปโปโร จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ฟุกุโอกะ จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และ โตเกียว (นาริตะ / ฮาเนดะ) 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่วนเมืองเซนได การบินไทยยังไม่กลับมาเปิดบินเพราะเห็นว่าเป็นตลาดที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ โควิด-19 ได้คลี่คลายมากขึ้นแล้ว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆสำหรับชาวญี่ปุ่น เพื่อเดินทางไปพักผ่อนหรือติดต่อเจรจาธุรกิจ ซึ่งการบินไทยมีผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่นได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตารางบินที่ครอบคลุม เครื่องบินที่ทันสมัยและสะดวกสบาย การบริการตามแบบฉบับไทยที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ผู้โดยสารจะได้รับ ไม่ว่าจากการบินไทยเองและจากพันธมิตรทางธุรกิจ อีกทั้ง การบินไทยยังมีเครือข่ายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมจุดมุ่งหมายของชาวญี่ปุ่นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น CLMV, อินเดีย, ปากีสถาน หรือ แม้กระทั่ง ยุโรป จึงคาดว่าในปี 67 การเดินทางของชาวญี่ปุ่นมายังไทยน่าจะมีจำนวนมาก
สำหรับตลาดเส้นทางจีน จากการประกาศวีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าประเทศไทย มีผลตั้งแต่ 25 ก.ย.66 - 29 ก.พ.67 ส่งผลให้ยอดจองใน Travel online platform เช่น Ctrip, Tuniu จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เป็นทิศทางที่ดีต่อการตอบรับการเดินทาง รวมทั้งการเดินทางในช่วงวันชาติจีนที่จะถึง ในวันที่ 1 ต.ค.66 ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็น นักท่องเที่ยวแบบเดินทางคนเดียว (FIT) เพิ่มขึ้น และแนวโน้มจะเป็นผู้โดยสารที่มีอายุน้อยเดินทาง ส่วนนักท่องเที่ยวลักษณะกลุ่มใหญ่ (Charter และ GIT) ที่จะเดินทางมาจากเมืองรองเป็นส่วนใหญ่ ต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ
การเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางบินจีน ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) นี้ ได้แก่ ปักกิ่ง จาก 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, คุนหมิง จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เฉิงตู จาก 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ดังนั้น ประมาณการผู้โดยสารในช่วงไฮซีซั่น ในเส้นทางญี่ปุ่น 423,980 คน (Cabin factor 85%) เส้นทางจีน Cabin factor 88% เส้นทางยุโรป 375,357 คน (Cabin factor 90%) ออสเตรเลีย 112,597 คน (Cabin factor 92%) , Southern (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย) 25,540 คน (Cabin factor 80%) Western (ออสเตรเลีย) 169,168 คน (Cabin factor 82%)
ทั้งนี้ สัดส่วนทางการตลาด Top 3 คือ ยุโรป ยังคงเป็นอันดับหนึ่ 30% ตามด้วย ในประเทศ 27% และเอเชียเหนือ ( Northern) 20% ตามลำดับ นอกจากนี้ การบินไทยจะเปิดเส้นทางใหม่ กรุงเทพ-อิสตันบูล ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 66 ซึ่งเส้นทางนี้การบินไทยได้ทำโค้ดแชร์กับสายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์ ทั้งนี้ อิสตันบูล เป็นจุดศูนย์กลางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ที่สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยการบินไทยจะทำการบินด้วยแอร์บัส A350-900 จำนวน 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ นายชาย กล่าวว่า การเปิดเส้นทางบินใหม่สู่อิสตันบูล นอกจากจะยกระดับการเป็นสายการบินที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและออสเตรเลีย ยังสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับตุรกีและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากประเทศตุรกีเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 85.3 ล้านคน และมีขนาดมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 906 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ "อิสตันบูล ถือว่าเป้นจุดยุทธศาสตร์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ สนามบินอิสตันบูลบินเข้ามาจาก 120 เมือง และบินจากอิสตันบูลไป 57 เมือง เราขอไปครึ่งหนึ่ง 25 เมือง และตุรกีมีประชากร 85 ล้านคน No Visa เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่คนตุรกีมาไทยเยอะ คนตุรกีชอบคนไทย"
*เร่งหาเครื่องบินใหม่
นายชายกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจการบินกลับมารวดเร็ว ทำให้การจัดหาเครื่องบินไม่ง่าย ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะมีฝูงบิน 95 ลำภายในปี 70 โดยปัจจุบัน มีเครื่องบิน 45 ลำ และได้จัดหาใหม่ 11 ลำ ที่จะทยอยรับมอบในต้นปี 67 รวมแล้วเป็น 56 ลำ เมื่อรวมกับเครื่องบินที่สายการบินไทยสมายล์ทำการบินจะโอนกลับมาที่การบินไทยทั้งหมด 20 ลำ การบินไทยจะมีฝูงบิน 76 ลำ ขณะเดียวกันก็ต้องปลดระวางเครื่องบิน B777-200 ER ออกไป 5 ลำ ก็จะเหลือ 90 ลำ
ดังนั้น การบินไทยก็ต้องจัดหาเพิ่มอีก 14 ลำ ภายในปี 70 โดยรุ่นเครื่องบินที่ต้องการเข้ามาเสริมทัพ เป็น A350, B777 ,B787 ทั้งนี้ เมื่อการบินไทยมีเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมทัพ ก็เตรียมที่จะกลับไปบินเมืองออสโล , มิลาน และซิดนีย์ ที่มีดีมานด์อยู่
นอกจากนี้ การบินไทยอยู่ระหว่างแผนการจัดการเครื่องบินระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าการบินไทยต้องมีเครื่องบินจำนวน 100 ลำขึ้นไป โดยคาดว่าจะสามารถสรุปได้ต้นปี 67 ส่วนจะได้รับมอบเครื่องบินเมื่อไหร่ ขึ้นกับผู้ผลิตเครื่องบิน คือ แอร์บัส และโบอิ้ง โดยแอร์บัสปัจจุบันมีคำสั่งผลิตเครื่องบินรองอยู่ 400 ลำแล้ว ซึ่งผลิตได้ปีละ 100 ลำ "วันนี้เรารู้แล้ว เราต้องการเท่าไหร่ แต่ความต้องการกับความสามารถมันคนละเรื่อง ?วิธีการได้มาซึ่งเครื่องบิน ถ้าเราไปจัดหาเครื่องบินใหม่ก็ต้องวางเงินมัดจำ โดยมูลค่าเครื่องบินเป็นแสนล้านอยู่แล้ว เครื่องบินลำหนึ่งมี 4-5 พันล้าน"
นายชาย กล่าวว่า การบินไทย ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดมา 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 28% (รวมไทยสมายล์) ซึ่งมองว่าเล็กเกินไป ก่อนหน้านี้การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 30% ซึ่งขณะนั้นไม่มีสายการบินโลว์คอส แต่จะให้ถึง 50% ก็คงไม่ไหว อย่างไรก็ดี การจะขยายส่วนแบ่งตลาด จำเป็นต้องเพิ่ม Capacity ซึ่งปัจจุบันการบินไทยใช้เครื่องบินเต็มประสิทธิภาพแล้ว
ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจของการบินไทยที่จะรวมไทยสมายล์เข้ามาคาดว่าจะเสร็จในเดือนม.ค.67 ขณะนี้ได้โอนฝูงบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์มาแล้ว 4 ลำ เหลืออีก 16 ลำ และทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินมาด้วย โดยที่เริ่มทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศไปแล้ว ได้แก่ ย่างกุ้ง ธากา เวียงจันทน์ และพนมเปญ อาห์เมดาบัด เกาสง ปีนัง และกัลกัตตา เหลือเส้นทางเวียดนาม ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ และเชียงใหม่ จะเริ่มทำการบิน 29 ต.ค. และกาฐมาณฑุ เริ่มทำการบิน 1 ธ.ค.66
สำหรับเส้นทางภายในประเทศ การบินไทยจะทยอยทำการบินเส้นทางในประเทศรวม 9 เส้นทาง ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ต. เป็นต้นไป ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ นราธิวาส และภูเก็ต (ซึ่งจะมีเส้นทางภูเก็ต 1 เที่ยวบิน ที่เริ่มทำการบินตั้งแต่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป ด้วยโบอิ้ง 777-200ER ที่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจากนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล)